xs
xsm
sm
md
lg

‘ทำลายป้ายหาเสียง’ โรคจิต รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกลยุทธ์ทางการเมืองในฤดูเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ ช่วงเวลานี้ในหน้าจอโทรทัศน์ หน้าปกหนังสือพิมพ์ ต่างเต็มไปด้วยข่าวคราวการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ หัวหน้าพรรคหรือผู้ลงสมัครรูปหล่อ สาวสวยมีภาพลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ออกหน้าจอโทรทัศน์เกือบทุกๆ ชั่วโมง รวมถึงผู้ลงสมัครรายอื่นๆ ด้วย

หันกลับออกมาให้ความสนใจในพื้นที่สาธารณะทั้งถนนใหญ่ ถนนเล็ก ซอยเล็ก ซอยใหญ่ ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็เจอแต่ป้าย ป้าย แล้วก็ป้าย!...ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลหาเสียง

ป้ายคนอุ้มเด็ก อุ้มหมี อุ้มหมา พร้อมข้อความที่เชิญชวนให้เลือกเบอร์นั้นกาเบอร์นี้ แต่ทว่าหลายคนกลับมองว่าบรรดาป้ายเหล่านี้กลับขวางหูขวาง หรืออาจจะขวางทางจราจรในบางพื้นที่

ส่วนคนไหนที่รู้สึกว่าขวางหูขวางตา จนเกิดอาการอยากจะทำลาย ก็เลยอดไม่ไหว บรรเลงขีดเขียนข้อความที่สะใจลงบนป้าย เจาะตา กรีดหน้า ตัดจมูก เขียนด่าสารพัดจะหาวิธีทำได้

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง ไปดูกันว่าป้ายหาเสียงเหล่านี้ยังยืนหยัดอยู่ได้หรืออย่างไร

ทำลายป้ายก็ผิดกฎหมาย

“การทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้งของผู้ลงสมัครนั้น ถือเป็นความผิดทางอาญาสามารถยอมความได้ ซึ่งป้ายหาเสียงเลือกตั้งถือเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล หากมีการทำลายก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย” มะโน ทองปาน ทนายความสำนักกฎหมายมะโน ทองปาน แสดงความคิดเห็นขั้นต้น

ป้ายบางป้ายที่ติดอยู่ข้างทางอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งเองก็ต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้มะโนบอกว่า ป้ายหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะต่างๆ นั้น สามารถติดได้ถ้าป้ายเหล่านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ไม่ได้ห้ามให้ติด แต่ก็มีบางป้ายอาจเป็นปัญหาที่เข้าข่ายต่อการขัดขวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งทาง กกต. ก็อาจจะพิจารณาอีกครั้ง

“ข้อปฏิบัติหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับป้ายหาเสียงเลือกตั้ง กกต. ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ากว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ ถ้าผู้สมัครปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ ป้ายหาเสียงก็สามารถติดได้”

มะโน กล่าวต่อว่า ควรให้การหาเสียงเลือกตั้งดำเนินต่อไปและให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น ตามระบอบประชาธิปไตย

พฤติกรรมชอบทำลาย

ส่วนพฤติกรรมการชอบทำลายของคนบางคน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต มองว่า น่าจะเป็นเรื่องของเกมการเมืองเป็นหลัก เพราะถ้าสังเกตได้จะพบว่า ถนนบางสายที่ยาวเป็น 10 กิโลเมตร ป้ายหาเสียงของบางพรรคจะถูกทำลายเหมือนกันหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบางส่วนที่เกิดจากประชาชนธรรมดา ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะความชอบ-ไม่ชอบที่มีให้แก่พรรคการเมืองแต่ละพรรค

"การทำลายป้ายแบบชอบ-ไม่ชอบ มันจะไม่เป็นระบบ สมมติชาวบ้านอยู่ตรงนี้ หรือป้ายของพรรคที่เขาไม่ชอบมาตั้งหน้าบ้าน เขาก็ไม่ชอบ ก็อาจจะทำลายแค่ 1-2 ป้ายพอ เอาดินขว้างบ้าง เอาอะไรขว้างบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของแต่ละพรรค เช่น ถ้าประชาธิปัตย์ไปตั้งในถิ่นเพื่อไทย ก็จะถูกทำลายเยอะ เช่นกันถ้าเพื่อไทยไปตั้งในเขตประชาธิปัตย์ก็ถูกทำลายเหมือนกัน แต่ถ้าเราพูดในแง่ของกฎหมายแล้ว ผมคิดว่าชาวบ้านคงไม่รู้ว่าการทำลายป้ายนั้นมันผิดกฎหมาย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นต้องบอกให้รู้ หรือบรรดาหัวคะแนนต้องไปบอกว่า อย่าไปทำ เพราะถ้าเขาโดน ของเราก็ต้องโดนเหมือนกัน

"อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ ก็คือพวกวัยรุ่นที่คึกคะนองนี้แหละ เวลาเมาแล้วก็มาทำลายของ เอาก้อนหินขว้าง เป็นที่ลองยิงปืนบ้าง ยิงหนังสติ๊กบ้าง ทำลายของสาธารณะ แต่มันก็คงไม่เยอะแยะอะไรมากนัก ถ้าเทียบกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้"

ในสายตาประชาชน

คนที่จะพบเห็นป้ายหาเสียงที่ถูกทำลายบ่อยๆ นั้นก็คงไม่พ้นประชาชนคนทั่วไปที่เดินตามถนน นั่งรถเมล์ ขับรถยนต์ พวกเขาเหล่านั้นจะมีโอกาสได้เห็นป้ายนั้นๆ เขาจะว่าอย่างไรกันบ้าง

อารี อ่อนนุ่ม พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า รู้ดีอยู่แล้วว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งและมีการติดป้ายหาเสียงจะต้องมีการทำลายป้ายเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเธอก็บอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยมีการแบ่งเป็นหลายฝ่าย ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการทำลายป้ายหาเสียงของคู่แข่งได้

“การเมืองมีหลายพรรค ประชาชนก็มีหลายฝ่าย เราก็ไม่รู้ว่าประชาชนหรือคู่แข่งนักการเมืองเป็นคนทำลายกันเอง ดังนั้นการมีหลายฝ่ายก็ย่อมมีทั้งคนรักและคนเกลียดเป็นของคู่กัน”

ส่วนเรื่องที่มีการกรีดป้ายทำลายตรงหน้าผู้ลงสมัคร หรือคิดวิธีทำลายแบบแปลกๆ อาจจะเป็นการสร้างความสนใจ และเพื่อส่งความรู้สึกไปยักนักการเมืองทั้งหลายว่าตนชอบหรือไม่ชอบแค่นั้น

“คนที่ทำลายเขาไม่ได้เกลียดป้ายที่มันบังหรือรำคาญหรอกมั้ง แต่เขาคงเกลียดหน้าคนที่อยู่ในป้ายจนไม่อยากเจอทุกๆ วันต่างหาก” อารี สะท้อนความคิดเห็น

การทำอย่างนี้ก็เพื่อให้นักการเมืองทั้งหลายรู้และยอมรับว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนแบบไหน
“นักการเมืองต้องยอมรับข้อนี้นะ เพราะเขาน่าจะรู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่า เขาดีหรือไม่ดี ถ้าดีจริงก็คงไม่มีใครทำอะไรหรอก”

ป้ายรณรงค์ ‘โหวตโน’ ก็ถูกทำลายทั้งทางตรงและอ้อม

นอกจากป้ายหาเสียงของพรรคต่างๆ แล้ว ป้ายที่น่าสนใจมากที่สุดก็เป็นป้ายของพรรคฟ้าดิน ที่มีแนวคิดเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หาเสียงด้วยป้ายรณรงค์โหวตโน ซึ่งการรณรงค์เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง แต่ให้กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโน และได้อำนาจมืดที่มากลั่นแกล้งคุกคามการรณรงค์โหวตโนและมีมือมืดแอบทำลายภาพด้วยเช่นกัน

ล่าสุด กกต.ได้มีการประชุมและมีมติ 4 ต่อ 1 สั่งปลดป้ายโหวตโนรูปสัตว์ เนื่องจากผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพ.ร.บ.รักษาความสะอาด โดย กกต.มีการวินิจฉัยประกาศ กกต.ที่ว่าด้วยระเบียบและข้อความปฏิบัติในการติดตั้งป้ายหาเสียง ข้อ 9 ซึ่งระบุว่า หากป้ายหาเสียงไม่ถูกต้องตามที่กำหนดต้องแจ้งให้พรรคการเมืองดำเนินการแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด
ทางด้านพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมารับลูกให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีมติให้ทาง กทม. นำป้ายออก และไม่ให้ถือป้ายดังกล่าวหาเสียงนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย ส่วนเจ้าหน้าที่จะดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกัน และรอแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนจาก กกต.ว่าจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างไร

ส่วนเรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ เลขาธิการพรรคเพื่อฟ้าดิน และกรรมการบริหารพรรค กล่าวที่หน้าสำนกงาน กกต. ในการไปขอเหตุผลจาก กกต. ถึงคำสั่งปลดป้ายของ กกต. ว่า พรรคจะไม่ยอมให้มีการปลดป้ายลง จนกว่าจะได้รับคำตอบและเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่งหากคำชี้แจงมีเหตุผลที่สามารถยอมรับได้ พรรคก็จะยอมปลดป้ายลง แต่หากคำชี้แจงของ กกต.ไม่เป็นธรรมต่อพรรค ก็จะดำเนินการยื่นเรื่องให้ศาลเพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราวในคำสั่งดังกล่าวต่อไป

ที่น่าสนใจจากเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ ของอดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา มีชัย ฤชุพันธุ์ ในเว็บบอร์ด ‘ถาม-ตอบกับมีชัย’ ได้ตอบถึงกรณีป้ายโหวตโนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ระบุว่า การปิดป้ายตามที่สาธารณะนั้น ตามปกติมีพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ห้ามอยู่ แต่กฎหมายนั้นก็กำหนดว่าไม่ใช้กับการโฆษณาในการเลือกตั้ง อะไรที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงปิดได้โดยไม่ผิด ตามกฎหมายนั้น ส่วนในกฎหมายเลือกตั้ง ก็ห้ามแต่เพียงเรื่องการใส่ร้ายด้วยความเท็จต่อผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

“ถ้าป้ายดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่ว่ามา ก็คงเอาผิดกับเขาได้ยากเหมือนกัน เว้นแต่ กกต.จะไปกำหนดลักษณะการหาเสียงให้ห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ก็น่าสงสัยว่า กกต.จะกล้าทำหรือไม่ เพราะอาจจะไปขัดกับหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ได้ ในช่วงเวลาหาเสียง มีอะไรมากมายที่มีทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ขืนไปเครียดกับสิ่งที่ไม่ชอบ ก็เป็นทุกข์ตาย”

………

ในฤดูกาลเลือกตั้ง ‘54 นี้ ประชนชนก็ต้องทำใจในการที่จะเห็นป้ายหาเสียงนับพันป้ายติดตามสถานที่ต่างๆ ชอบเจ้าของป้ายคนไหน ถูกใจใครก็เลือกไว้ในใจ หรือจะเลือกโหวตโนก็แล้วแต่ใครมัน ที่แน่ๆ ก็อย่าลืมไปเลือกตั้ง (เลือกตั้งล่วงหน้า-วันที่ 26 มิถุนายน 2554 และเลือกตั้งปกติ 3 กรกฎาคม 2554)

ส่วนป้ายหาเสียงแต่ละป้ายควรหาที่ตั้งให้เหมาะเจาะ ไม่ไปบดบังทัศนียภาพ (ซึ่งหาได้น้อยมาก) บดบังการจราจร หรือบดบังสายตาของใครๆ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะถูกทำลายด้วยมือของคนไม่ชอบหน้าก็เป็นได้ และจะทำให้การสื่อความหมายจากเจ้าของป้ายบิดเบือนไปความจริงที่จะเป็น เดี๋ยวคนจะไม่เลือกไม่รู้ด้วยนะ...

>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น