ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานสภาการยางฯ แนะภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาดินถล่ม พร้อมหามาตรการการป้องกันการพังทลายของดินระยะยาว
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันการพังทลายของดินที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส และทรงห่วงใยเกี่ยวกับการเลือกชนิดพืชที่ปลูกในพื้นที่สูงหรือภูเขาแล้วเกิดปัญหาดินถล่ม สร้างความเสียหายทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร์เป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ จ.สตูล และ จ.กระบี่ และพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน ว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะยาว หากเกษตรกรยังมีความต้องการที่จะปลูกยางพารา เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่ดีในบนพื้นที่สูง หรือภูเขานั้น
ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตร ทำการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ควรคัดเลือกเกษตรกรและไปสำรวจพื้นที่ปลูกจริงไปพร้อมกับให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างถูกวิธี รวมทั้งตัวเกษตรกรผู้ปลูกเองจะต้องให้ความสำคัญใส่ใจปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น นายอุทัย ได้แนะแนวทางการปลูกยางพาราในพื้นที่สูง หรือภูเขา ที่เกษตรกรมีพื้นที่และต้องการปลูกยางพาราว่า อันดับแรก เกษตรกรควรมีการปรับพื้นที่โดยการทำขั้นบันไดตามแนวขวางการไหลบ่าของน้ำจากพื้นที่สูง สอง ให้ปลูกหญ้าแฝกตามบริเวณขอบขั้นบันไดเพื่อช่วยในการดูซับและชะลอการไหลของน้ำ
สาม ควรปลูกยางด้วยเมล็ดแล้วค่อยนำตาพันธุ์ดีไปติดในภายหลังซึ่งจะทำให้ได้รากแก้วลงดินอย่างสมบูรณ์ สี่ ควรปลูกพืชร่วมยางที่มีระบบรากแก้วร่วมกับการปลูกยาง อาทิเช่น สะตอ ลองกอง หวาย และพืชสมุนไพร ฯลฯ ทั้งนี้ ควรมีการบำรุงรักษาพืชร่วมยางเหล่านี้ให้เป็นผืนป่าเศรษฐกิจอยู่ร่วมกับสวนยางพาราด้วย
นอกจากนี้ บริเวณแถวระหว่างต้นยางพาราหากมีวัชพืชขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางไม่ควรกำจัดจนโล่งเตียนจนเกินไป เนื่องจากพืชดังกล่าวข้างต้นจะกลายเป็นทั้งผืนป่าเศรษฐกิจช่วยรักษาความชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยทำให้น้ำยางไหลอกจากต้นยางขณะกรีดได้ดีกว่าการปลูกยางในพื้นที่โล่งแจ้งอีกด้วย ดังนั้น วิธีการดังกล่าวจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาลงได้
“ที่ผ่านมา ผมได้เคยแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้มาแล้ว แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดนำไปดำเนินการอย่างปฏิบัติจริงจัง เมื่อเกิดวาตภัยและอุทกภัยขึ้นจึงเกิดความเสียหายแก่ราษฎร์และทรัพย์สินขึ้น ดังนั้น ขอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจ เนื่องจากทุกวันนี้สภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ทุกเวลาไปทุกแห่งทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการหรือแนวทางป้องกันแก้ไข ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเร่งหาแนวทางปฏิบัติกันอย่างจริงจังเพื่อสนองตามแนวพระราชดำรัสขอพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านได้มีสายพระเนตรที่ยาวไกล และเป็นการรักษาชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย”
นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะตนนี้ได้เชิญสภาการยางแห่งประเทศไทย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้มีการจัดประชุมร่วมกันในวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2554 ที่ โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ผ่านมา