xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” เมืองตรังขึ้นระดับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - นายก อบต.นาหมื่นศรี เสนอ 3 แนวทางพัฒนา “ผ้าทอนาหมื่นศรี” สินค้า OTOP ขึ้นชื่อของตรัง ทั้งการจดลิขสิทธิ์ลายผ้า การปรับปรุงโรงทอผ้า และการประชาสัมพันธ์ เพื่อช่วยยกระดับสินค้าให้ก้าวไกลไปมากขึ้น

นายอรุณ ยิ้มสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาหมื่นศรี และอดีตกำนันตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวตำบลนาหมื่นศรี ขณะนี้กลับกลายมาเป็นความภาคภูมิใจ และความหวงแหนภูมิปัญญาของชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมและพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน จนสามารถสร้างชื่อเสียงของผ้าทอให้เป็นที่นิยมไปทั่วทั้งประเทศในเวลานี้ หลังจากที่ทางกลุ่มต้องเพียรพยายามอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ มาตั้งแต่เมื่อปี 2516

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากได้มีการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรมพัฒนาชุมชน ที่ส่งเสริมทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ และด้านอาคารโรงทอ ในที่สุดผ้าทอนาหมื่นศรี จึงเกิดการพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และยังขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย จนกระทั่งได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าสุดยอด OTOP ของจังหวัดตรัง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าใส่สตางค์ กระเป๋าสะพาย หมวก เนกไท ผ้าเช็ดหน้า สมุดบันทึกปกลายผ้าทอ ชุดผ้าทอ เสื้อ และกระโปรง นอกจากนั้นก็ยังมีผ้าผืนลวดลายต่างๆ ให้ได้เลือกซื้อกันอีกมากมาย ซึ่งบางผืนก็มีลักษณะเป็นรูปแบบแปลกใหม่ เพื่อเอาใจกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มคนทำงาน

อบต.นาหมื่นศรี ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในท้องถิ่น ที่ได้มีการช่วยเหลือกลุ่มทอผ้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต ด้วยการให้เงินทุนหมุนเวียนไปแล้วจำนวนหลายแสนบาท โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ซึ่งมีผ้าที่ทอออกมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีตลาดรองรับและจำหน่ายออกไม่หมด เมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อวัตถุดิบก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงผลักดันให้มีจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในลักษณะของกี่กระตุก และโรงเรือนทอผ้า

สำหรับจุดเด่นของผ้าทอนาหมื่นศรี เมื่อนำไปเทียบกับผ้าอื่นในท้องตลาดพบว่า ทั้งลักษณะการใช้งาน อายุการใช้งาน เนื้อผ้า หรือสีผ้า จะมีความแตกต่างกันไม่ต่ำกว่า 1 ปี อีกทั้งยังมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาจุดอ่อนของผ้าทอนาหมื่นศรี พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การจดลิขสิทธิ์ลายผ้า ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เพื่อมิให้เกิดปัญหาถูกลอกเลียนแบบในอนาคต 2.การปรับปรุงโรงทอผ้า ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตชุมชน จึงไม่สามารถขยายออกได้ กลุ่มที่มาศึกษาดูงาน หรือกลุ่มนักท่องเที่ยว ก็จอดรถไม่สะดวก โดยอาจจะต้องหาซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติม แต่ก็ติดขัดในเรื่องของงบประมาณที่ค่อนข้างต้องใช้สูงและ 3.การประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์ หรือระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปรับรู้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น