ยะลา - โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ชุบชีวิต และสร้างโอกาสให้กับเด็กกำพร้า คนพิการ หญิงหม้าย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้มีรายได้ มีความรู้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว
จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 8 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการสูญเสีย เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจำนวนไม่น้อย ในขณะเดียวกัน ทางภาครัฐ ได้ทุ่มเทงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น รวมแล้ว ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท แต่สถานการณ์ยังเกิดขึ้นนับวันจะทวีความรุนแรงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และผู้ด้อยโอกาส สามารถที่เข้ามาใช้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ให้สามารถอยู่รอดอย่างปลอดภัย มีรายได้ที่พอมีพออยู่ เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ฟาร์มปศุสัตว์ผสมผสาน 1 ฟาร์ม 1 อำเภอ ที่บ้านไม้แก่น หมู่ที่ 1 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้รวบรวมสมาชิกมาจากหญิงหม้ายเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบ เด็กด้อยโอกาส และเยาวชนกลุ่มเสียง ในเรื่องของยาเสพติดและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จำนวน 20 คน มาทำกิจกรรมบนที่ดินที่ว่างเปล่า ใต้เสาไฟฟ้าแรงสูง จำนวน 12 ไร่ ที่ถูกปล่อยร้างไร้ประโยชน์เป็นเวลานาน มาบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้
และรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมทางอาชีพที่ก่อประโยชน์ในทางเกษตรกรรม ปศุสัตว์ เพื่อให้โอกาสกับผู้ได้รับผลกระทบและด้อยโอกาส สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นคน ได้ทัดเทียมกับปุถุชนคนทั่วไป โดยแยกเป็นการปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ การเกษตรกรรม ได้แก่การทำแปลงเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว การแปลงกล้วยไม้ การประมง ได้แก่ การเลี้ยงปลาดุก เป็นต้น
นางสาวไบด๊ะ และแม หญิงใบ้ วัย 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ที่ 1 ต.วังพญา อ.รามัน ทำหน้าที่ดูแล โรงเลี้ยงเป็ดไข่ ในแต่ละวัน เธอจะทำหน้าที่ ให้อาหารเป็ดและเก็บไข่ มาส่งให้กับเพื่อนๆ ภายในฟาร์ม เพื่อบรรจุถุงขาย ถุงละ 30 ฟอง ในราคา 100 บาทตามที่ลูกค้าได้สั่งซื้อในแต่ละวัน
นางสาวไบด๊ะ และแม หญิงใบ้ ได้แสดงสื่อความหมายตามภาษาคนใบ้ สรุปได้ว่า เธอนั้นได้รับมอบหมายจากหัวหน้ากลุ่มในการดูแลเล้าเป็ดและไก่ ให้ทำหน้าที่ให้อาหารและเก็บไข่ทุกวัน สำหรับ นางสาวไบด๊ะ นั้น เพื่อนๆ เปิดเผยว่า หากใครเข้าไปทำหน้าที่แทน โดยไม่ได้บอกกล่าวเขานั้น ทำให้ นางสาวไปด๊ะ งอนไปทั้งวันเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับ นายปริญญา มะรียา อยู่บ้านเลขที่ 37/2 ม.4 ต.เกะรอ อ.รามัน เปิดเผยว่า ตนเองเป็นเด็กกำพร้า ฐานะยากจน ไม่มีอาชีพรายได้ที่มั่นคง เมื่อทางศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง เปิดโอกาสให้ตนเองและเพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกในศูนย์ โดยมีหน้าที่ในการดูแลฟาร์มการเลี้ยงไก่เนื้อ ปัจจุบันนอกจากมีรายได้ให้กับตัวเองแล้ว ยังได้ความรู้ในวิชาชีพ ที่ตนเองได้รับมอบหมายควบคู่ไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ภายในฟาร์มมีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ การเลี้ยงเป็ดไข่ การเลี้ยงควาย การเลี้ยงไก่ไข่ การลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลา ล้วนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับตน ตนต้องขอบคุณรัฐ ที่เปิดโอกาสให้ตนเองและเพื่อนๆ อีกหลายคนได้มีโอกาส ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ด้วยการมีงานทำที่มั่นคง การเรียนรู้ในวิชาชีพที่อยู่นอกระบบโรงเรียนได้ ที่สำคัญที่สุด พวกตนจะไม่มีเวลาที่เปล่าประโยชน์ในห้วงของแต่ละวัน ทำให้ห่างไกลจากสิ่งเสพติด ที่จะพาให้หลงทางเดินได้ในอนาคตด้วย
ด้าน นายมะไซดี ลาโฮะยา วัย 40 ปี พิการทางสายตา มองไม่เห็นทั้งสองข้าง อยู่บ้านเลขที่15/2 หมู่ที่ 1 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา เปิดเผยด้วยน้ำตาคลอเบ้า ว่า ตนเองพิการ ตามองไม่เห็นมาเป็นเวลากว่า 5 ปี แล้ว ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก งานการที่ตนเองเคยทำในอดีต คือ การเป็นช่างก่อสร้าง ต้องสลายไปกับความพิการของสายตา เมื่อศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ได้เปิดขึ้นในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ตนที่เป็นพิการ มาฝึกฝนการทำงานท่ามกลางของการมองไม่เห็น ในที่สุดตนสามารถทำงานได้ ด้วยการมีเพื่อนร่วมงานที่สายตาดีมาช่วยเหลือ
ปัจจุบันตนได้รับมอบหมายทำหน้าที่การขยายพันธุ์กล้วยไม้ในแปลงกล้วยไม้ และอาศัยที่เคยเป็นช่างมาก่อน จึงได้รับมอบหมายเป็นผู้วางแผนการจัดระบบน้ำในศูนย์อีกด้วย ถือว่าศูนย์แห่งนี้เป็นผู้ที่มาฟื้นชีวิตใหม่ให้กับตนเองและครอบครัว อย่างหาที่เทียบไม่ได้อีกแล้ว ต้องขอบคุณผู้บริหารศูนย์ ต้องขอบคุณรัฐที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในพื้นที่ แม้คนที่หมดโอกาสแล้วอย่างตนเอง ยังสามารถกลับมาฟื้นสร้างชีวิตใหม่ได้
สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ ประชาชน มาจับมือร่วมกันคิด ร่วมกันทำ บนพื้นฐานของความจริงใจซึ่งกันและกัน ปราศจากการเอาใจ การแสวงหาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง เชื่อว่าภาคประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วความสงบสุขที่ยั่งยืนจะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน