ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในคณะกรรมการสทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ให้กับผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ 5 จชต.เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและญาติ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีศพนิรนามชาวไทยมุสลิมถูกฝังไว้ในสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก
วันนี้ (20 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา ศาสตราจารย์ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เปิดการสัมมนาแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม ให้กับผู้นำศาสนา ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากที่การจัดทำแนวทางการชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามมีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ และหลักการของศาสนาอิสลามและดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษามลายู อักษรยาวีสำนวนปัตตานี และได้รับการวินิจฉัยทางศาสนาจากสำนักจุฬาราชมนตรีว่า สามารถทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนา
ศาสตราจารย์ อมรา เผยว่า การชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักการศาสนาอิสลาม จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและญาติเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศพนิรนามไม่น้อยถูกฝังไว้ในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิฯได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีบุคคลสูญหายและศพถูกฝังอยู่ในกุโบร ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการตรวจชันสูตรว่าผู้ตายเป็นใครและเสียชีวิตเพราะเหตุใด ญาติไม่ทราบถึงการเสียชีวิต และไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ จึงควรที่จะมีการขุดศพนิรนามเหล่านี้มาตรวจชันสูตร ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทราบว่าใครและญาติจะได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาและดำเนินการตามกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทางคดี
อย่างกรณีการร้องเรียนการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร ที่คาดว่า จะเสียชีวิตไปแล้ว และน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการที่จะตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ของโครงกระดูกที่ถูกฝัง แต่เนื่องจากกระบวนการนำศพไปที่ถูกฝังตามประเพณีของศาสนาอิสลามมาชันสูตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกี่ยวโยงกับความเชื่อและหลักการทางศาสนาอิสลามที่ห้ามไม่ให้ขุดศพขึ้นมาชันสูตร จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งประเทศไทยไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกรณีเช่นนี้มาก่อน และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะนำแนวทางการชันสูตรศพตามหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในประเทศไทย