ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ 6 อำเภอ จ.สงขลากว่า 500 คน รวมตัวเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองสงขลา เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราวและพิจารณาเพิกถอนสัญญาสัมปทาน ขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล รวมทั้งการชดใช้ค่าเสียหายจากผลกระทบการขุดเจาะน้ำมันในเฟส 2 ซึ่งกินพื้นที่ทำการประมง 150 ตารางกิโลเมตร ด้านตัวแทนนิวคอสตอล อ้างจ่ายเงินเยียวยาและค่าภาคหลวงเป็นธรรมแล้ว
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (16 มิ.ย.) กลุ่มชาวประมงชายฝั่งทั้ง ประมงอวนลาก ประมงปั่นไฟ ประมงอวนลอย และประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 6 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย อ.เมือง ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ และ อ.เทพา กว่า 500 คน รวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าสวนป๋าเปรม เชิงสะพานติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมืองสงขลา ก่อนเคลื่อนขบวนไปรวมตัวหน้าศาลปกครองสงขลา และส่งตัวแทนพร้อมทนายเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราวและพิจารณาหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเพิกถอนสัญญา และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กลุ่มชาวประมงทั้ง 6 อำเภอ
ทั้งนี้ กลุ่มชาวประมงอ้างเหตุผลว่า ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขยายฐานขุดเจาะน้ำมันเฟส 2 เพื่อผลิตปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ห่างฝั่ง อ.สทิงพระ ออกไปเพียง 7-10 ไมล์ทะเล ทำให้ชาวประมงเสียสิทธิ์ในพื้นที่ทำการประมงชายฝั่งกินเนื้อที่ประมาณ150 ตารากิโลเมตร รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำน้อยลงและไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
นายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำชาวประมงทั้ง 6 อำเภอ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นชาวประมงที่ได้รับผลกระทบได้ร้องเรียนไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบริษัทผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการช่วยเหลือทั้งเงินชดเชยและแนวทางแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง และชาวประมงทั้ง 6 อำเภอจะยังคงเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อปกป้องสิทธิ์และพื้นที่ทำกินจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม
นิวคอสตอล เผย เยียวยา-จ่ายค่าภาคหลวงเป็นธรรม
ด้านนางภาวิณี ทับเป็นไทย ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์บริษัท ซีอีซี.อินเตอร์เนชั่นแนล (สาขาประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เยียวยาชาวประมง โดยได้โอนเงินเข้าบัญชีกองทุนพัฒนาประมง จ.สงขลา เดือนละ 2,240,000 บาท และช่วยสมทบกาชาดเดือนละ 320,000 บาท รวมปีหนึ่งประมาณ 30.2 ล้านบาท ตามข้อตกลง 3 ฝ่าย คือ จังหวัดสงขลา ตัวแทนชาวประมง และบริษัท
นอกจากนี้ ยังจัดได้สรรค่าภาคหลวง จากการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่ง จ.สงขลา ของบริษัทตั้งแต่เดือน ก.พ.2552-ปัจจุบัน ให้กับประเทศไทย 1,003,608,265 บาท ร้อยละ 40 เป็นรายได้แผ่นดิน 401,443,306 บาท จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ผลิตปิโตรเลียม 28 แห่ง จำนวน 200,721,653 บาท อบจ.สงขลา จำนวน 200,721,653 บาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.สงขลา 112 แห่ง จำนวน 100,360,826 บาท