xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัย ม.อ.ชี้เด็กเล็กดูทีวีน้อยกว่าวันละ 2 ชม.ลดเสี่ยงต่อพัฒนาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.พญ.อัจฉรีย์ อินทุโสมา กุมารแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาระบาดวิทยา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แพทย์ ม.อ.วิจัยพบว่า การดูโทรทัศน์อาจ ลดความเสี่ยง ต่อปัญหาพัฒนาการด้านภาษา รวมทั้งด้านสังคมและอารมณ์ของทารกและเด็กวัยเตาะแตะ เมื่อดูระยะเวลา 0.5 - 2 ชั่วโมงต่อวัน และดูรายการสำหรับเด็ก และสาระ

ผศ.พญ.อัจฉรีย์ อินทุโสมา กุมารแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาระบาดวิทยา ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “ผลของการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา และสมรรถนะทางสังคม และอารมณ์ ของเด็กวัยทารกและวัยเตาะแตะ” โดยมี ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

10 กว่าปีมาแล้วที่สมาคมกุมารแพทย์อเมริกาแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์เลย ส่วนเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป สามารถดูได้แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เพราะในเด็กโตอาจมีผลเสีย เช่น โรคอ้วน ก้าวร้าว การเรียนตก

แต่ในสังคมไทยมักไม่เคยทราบถึงคำแนะนำนี้ การดูโทรทัศน์ยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ของเด็กเล็ก ๆ เนื่องจากเป็นกิจกรรมของเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก อีกทั้งพ่อแม่ไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการดูโทรทัศน์ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ คำแนะนำของต่างประเทศดังกล่าวที่ถูกอ้างต่อๆ กันมา จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เราควรให้เด็กเล็ก ๆ ดูโทรทัศน์หรือไม่ นอกจากนี้ โครงสร้างของภาษา ค่านิยม แบบแผนการเลี้ยงดู และรายการโทรทัศน์ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการวิจัยครั้งนี้

ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย (ก่อตั้งและดำเนินการโดยนักวิชาการหลายวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักสังคมศาสตร์ นักจิตวิทยา จากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ) นักวิจัยภาคสนามจะติดตามเด็กและครอบครัวที่เกิดและอาศัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง (จ.น่าน) 760 คน อ.กระนวน (จ.ขอนแก่น) 852 คน อ. พนมทวน (จ. กาญจนบุรี) 774 คน อ. เทพา (จ.สงขลา) 1,061 คน และ (พื้นที่รอบรพ.รามาธิบดี) กรุงเทพ 710 คน (เด็กคนแรกของโครงการเกิดวันที่ 15 ตุลาคม พศ. 2543)

ข้อมูลเรื่อง ระยะเวลาเฉลี่ยที่เด็กดูโทรทัศน์ต่อวัน รายการที่เด็กดูประจำ ได้จากการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดูหลักเมื่อเด็กแต่ละคนมีอายุ 1 ปี 2 ปี 2.5 ปี และ 3 ปี การประเมินพัฒนาการทางภาษาของเด็กเมื่ออายุ 1 และ 2 ปีจะใช้คำถามจากแบบคัดกรองพัฒนาการ (DENVER II) และเมื่ออายุ 2.5 ปี และ 3 ปี จะใช้แบบประเมินการพูดและภาษาของเด็กไทย (พัฒนาเครื่องมือโดย รศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี)

แบบทดสอบที่ใช้จะมีความง่ายระดับที่เด็กส่วนใหญ่ (75%) ควรจะทำได้ (เด็กที่ทำไม่ได้จะถูกจัดในกลุ่ม มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า) ส่วนสมรรถนะด้านสังคมและอารมณ์ วัดสองครั้งเมื่ออายุ 1 และ 3 ปี โดยใช้เครื่องมือวัดพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม จริยธรรม (Modified Infant-Toddler Social and Emotional Assessment) (พัฒนาเครื่องมือโดยโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทยของ รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ และคณะ) เด็กที่ได้คะแนนน้อยกว่าเปอร์เซนไตล์ที่ 10 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ปกติของเด็กไทย จะถูกจัดในกลุ่ม มีความเสี่ยงต่อสมรรถนะด้านสังคมและอารมณ์ต่ำ

วิธีการศึกษาว่า ระยะเวลาที่ใช้ดูโทรทัศน์และประเภทของรายการ มีผลอย่างไรต่อการพัฒนาการเด็ก รายการโทรทัศน์ที่เด็กได้ดูเป็นประจำ (ถามจากผู้เลี้ยงดูหลัก) จะถูกจัดประเภทเป็น รายการที่ให้ความรู้ และรายการทั่วไป (รายการที่ให้ความรู้ ในการศึกษานี้ หมายถึง รายการสำหรับเด็ก เช่น เจ้าขุนทอง หนูดีมีเรื่องเล่า ฯลฯ และรายการสารคดี) ในการวิเคราะห์จะมีการปรับด้วยปัจจัยอื่นๆ ร่วม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าพัฒนาการเด็กที่ประเมินได้ เป็นผลที่เกิดจากการดูโทรทัศน์จริง ไม่ได้เกิดจากการปัจจัยรบกวน (ปัจจัยอื่นๆกล่าวถึง ได้แก่ เพศ รายได้ครอบครัว ผู้เลี้ยงดูหลัก การศึกษาของพ่อและแม่ จำนวนพี่น้อง จำนวนภาษาพูดที่ใช้ในครอบครัว การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงและเด็ก ลักษณะการเลี้ยงดู พื้นอารมณ์ของเด็ก) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ เป็นสถิติที่เหมาะสมกับการวัดข้อมูลซ้ำหลายครั้งในคนเดียวกัน

ผลการศึกษา เมื่อติดตามเด็ก 4,157 คน (ชาย 2074 และหญิง 2083 คน) ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 3 ปี พบว่า สัดส่วนของเด็กที่ดูโทรทัศน์ขณะอายุ 1, 2, 2.5 และ 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 77.0, 90.2, 91.7 และ 94.7 ตามลำดับและ ระยะเวลาในการดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นตามวัย (ค่ามัธยฐานของระยะเวลา 10, 40, 60 และ 60 นาทีต่อวัน) แต่มีเพียงร้อยละ 11-15 เท่านั้นที่ดูรายการที่ให้ความรู้ (ประเภทรายการที่เด็กได้ดูมากที่สุด เป็นรายการบันเทิง (38.2%) รองลงมา คือ การ์ตูน (33.7%)

ข้อค้นพบสำคัญ คือ การดูโทรทัศน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่คำนึงถึงประเภทรายการ) อาจลดความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้าได้ร้อยละ 21 ถึง 31 และอาจลดความเสี่ยงของการด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ถึงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์เลย นอกจากนี้ หากดูรายการที่ให้ความรู้ ลดความเสี่ยงต่อการล่าช้าของพัฒนาการภาษา และการมีสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ต่ำได้ ร้อยละ 23 และ 37 ตามลำดับเมื่อเทียบกับการดูรายการโทรทัศน์ทั่วไป

ที่อยากเน้นคือ การดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 2 ชั่วโมงไม่ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น (แม้ความเสี่ยงจะยังคงน้อยกว่าการที่ไม่ดูโทรทัศน์เลย แต่ไม่มีนัยสำคัญ) งานวิจัยยังพบว่าการเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทางบวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้อง และการเสริมประสบการณ์นอกบ้าน ช่วยพัฒนาสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า แม้ผลการศึกษานี้จะพบว่าการดูโทรทัศน์อาจมีประโยชน์ในเด็กเล็ก แต่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันมีผลดีกว่าการรับสารทางเดียวจากสื่อโทรทัศน์ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นจินตนาการและส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กเล็กได้ดี จึงไม่แนะนำให้พ่อแม่ใช้โทรทัศน์เป็นพี่เลี้ยงเด็ก แต่ควรใช้เป็นสื่อกลางหรือหัวข้อในการสื่อสารกับเด็กมากกว่า ที่สำคัญ พ่อแม่ควรตั้งกฏเกี่ยวกับการดูโทรทัศน์ในครอบครัว เนื่องจาก เด็กที่ดูโทรทัศน์ตั้งแต่เล็ก มีแนวโน้มจะดูมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจคุมไม่ได้ ไม่ควรให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนของเด็ก และไม่ดูโทรทัศน์ระหว่างรับประทานอาหารกันในครอบครัว

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ รัฐต้องผลิตหรือสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก ในปัจจุบัน รายการเด็กมีน้อยมากและเหมาะกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เพราะรายการสำหรับเด็กเล็กที่ดีผลิตได้ไม่ง่าย และไม่ค่อยมีสปอนเซอร์ แต่การวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า สื่อโทรทัศน์มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น การจัดให้มีรายการเด็กมากขึ้นอาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยได้ในทางหนึ่ง แต่ควรระวังเรื่องการควบคุมโฆษณาแฝงที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ถ้าจะมีการส่งเสริมกันจริงๆ น่าจะจัดให้มีสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เหมือนที่ในบางประเทศลงทุนแล้ว
ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น