พัทลุง - เกษตรกรสำรวจพื้นที่ของตัวเอง พบทั้งสวนผักและนาข้าวเสียหายทั้งหมด ทำให้ต้องสูญเงินลงทุนทั้งหมด หลังจากที่มีน้ำท่วมขังตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ส่วนที่ อ.ควนขุน และ อ.เมืองพัทลุงพบมีหอยเชอรี่ระบาดหนัก คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำนาในครั้งต่อไปอีกระลอก
วันนี้ (6 เม.ย.) หลังจากฝนหยุดตกมา 3 วัน ทำให้ขณะนี้พื้นที่อำเภอติดแนวเขตเทือกเขาบรรทัด น้ำได้ลดระดับเกือบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่พื้นที่ด้านติดกับทะเลสาบสงขลา ปริมาณน้ำยังท่วมขังอยู่ในบางหมู่บ้านในพื้นที่ของอ.เมืองพัทลุง อ.เขาชัยสน และ อ.ควนขนุน
นายวินัย บัวจุด อายุ 52 ปี เกษตรกรปลูกผักหมู่ที่ 1 ต.พญาขัน อ.เมืองพัทลุงกล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกผักและทำนาเป็นอาชีพหลัก จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและพืชผักเสียหายจำนวนมาก สำหรับตนมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ โดยได้ปลูกต้นหอมและมันขี้หนู และได้ถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายทั้งหมด
แม้ว่าขณะนี้ระดับน้ำลงบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถปลูกใหม่ได้ เนื่องจากมีน้ำท่วมขังอยู่บางส่วน คงจะต้องรอสักระยะหนึ่งจนกว่าน้ำจะแห้งหมด จึงจะปลูกใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้นหอมราคาดี กิโลกรัมละ 70 บาท แต่น่าเสียดายที่ต้นหอมของตนถูกน้ำท่วมเสียหายหมดเสียก่อน และขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดมาเหลียวแลให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด
ด้านความเสียหายของที่นาก็ไม่แพ้กัน นางเหลื่อม อินทร์สิติ อายุ 63 ปี ชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 15 ม.13 ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า ตนได้เช่าที่นานายทุน ประมาณ 41 ไร่ ในราคาไร่ละ 1,000 บาท เพื่อทำนาเลี้ยงชีพ แต่กลับได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ข้าวของตนอยู่ในระยะตั้งท้อง อีกประมาณ 45 วันก็จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว หากคิดเฉลี่ยในขณะที่ให้ผลผลิตในราคาไร่ละ 8,000 บาท รวมความเสียหายประมาณ 328,000 บาท ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ได้แต่ร้องขอนายทุนที่ให้เช่าที่นาผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปก่อน และต้องรอน้ำลด เพื่อหาทุนมาทำนาครั้งต่อไป
นางเหลื่อม ยังกล่าวอีกว่า ล่าสุดจากการสำรวจพื้นที่นาทั้ง อ.ควนขุน และ อ.เมืองพัทลุง ขณะนี้พบการระบาดของหอยเชอรี่ครอบคลุมทั้งสองอำเภอ โดยจะวางไข่บนต้นไม้และบนต้นข้าว ไข่แต่ละรังจะมีประมาณ 200 ฟอง หากชาวนายังไม่มีการตื่นตัวเก็บทำลายหรือนำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพแล้ว ฤดู การทำนาครั้งต่อไป (2/2554) คาดว่า ในระยะต้นกล้าหอยเชอรี่จะกัดกินต้นกล้า ภายในคืนเดียวนาข้าวจะกลายเป็นนาร้างอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง ได้รายงานผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 131,514,400 บาท โดยราษฎรได้รับความเดือดร้อน 49,850 ครัวเรือน 199,400 คน และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย คือ เด็กชาย ซอดีหรีน เส็นเกลี้ยง อายุ 7 ปี, เด็กชาย กิตติยศ เกาะทอง อายุ 13 ปี, นายเฉลิม เกื้อพรหม อายุ 58 ปี, นายจรัญ จอมจางวาง อายุ 61 ปี และเด็กหญิงเมริกา ทิ้นพิชัย อายุ 9 ปี
ส่วนอำเภอที่ประสบอุทกภัยมากที่สุด คือ อำเภอควนขนุน รวม 12 ตำบล 129 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 17,552 ครัวเรือน 70,208 คน รองลงมาคือ อำเภอบางแก้ว จำนวน 7,200 ครัวเรือน 23,000 คน อำเภอกงหรา จำนวน 5,850 ครัวเรือน 29,256 คน และอำเภอเมือง จำนวน 5,512 ครัวเรือน 22,048 คน ตามลำดับ โดยอำเภอที่ประสบภัยน้อยที่สุด คือ อำเภอตะโหมด จำนวน 1,500 ครัวเรือน 4,200 คน