พัทลุง - ปราชญ์ชาวบ้านที่พัทลุง แม้จะเชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงแพะ-แกะ แต่เมื่อเห็นเกษตรกรชาวสวนยางในหมู่บ้านมีเวลาว่างเยอะ จึงคิดและผลักดันให้เกิดการตั้งกลุ่มผลิตลวดเหล็กสำหรับวางจอกยาง เผยแค่ 3 ปีสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้วกว่า 5 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พัทลุง ว่า ชาวบ้านทุ่งเหรียง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา ทำสวนไม้ผล ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยถือเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และเป็นหมู่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัว กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ลดรายจ่าย สร้างรายได้และขยายโอกาส
นายสมคิด ไพเนียม ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเลี้ยงแพะ อยู่บ้านเลขที่ 34/2 หมู่ที่ 2 มีอาชีพหลักคือ การเลี้ยงแพะและแกะ จำนวน 90 ตัว จะเลี้ยงรวมกันทั้งแพะและแกะ ซึ่งแต่ละปีจะมีรายได้จากการขายแพะและแกะ ราว 5-6 หมื่นบาท นอกจากนั้น ยังได้เลี้ยงไก่คอล่อนเพื่อฟักลูกไก่ขาย เลี้ยงผึ้ง 15 รัง ปลูกส้มจุกบริเวณบ้าน ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
แต่เนื่องจากชอบช่วยเหลือชาวบ้าน และจากการเฝ้าสังเกตเห็นว่า เพื่อนบ้านที่มีอาชีพกรีดยางเป็นหลัก มีเวลาว่างหลังกรีดยาง หรือไม่ได้กรีดยางในช่วงที่ฝนตก เขาเหล่านั้นจะไม่มีงานทำ จึงเกิดแนวคิดที่จะชักชวนให้ร่วมกันผลิตเหล็กวางจอกยางพาราขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน โดยมีเพื่อนบ้านมาร่วมกันทำไม่กี่คน แต่ก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันมีสมาชิกมาร่วมกันทำ 10 กว่าคนแล้ว หลายคนเกิดความชำนาญจึงสามารถทำได้รวดเร็ว ซึ่งมีขั้นตอนการทำคือ นำลวดเหล็กที่เป็นม้วนๆ มาคลาย แล้วม้วนใหม่ให้ได้ขนาดตามความต้องการ นำมาม้วนให้ได้ขนาดพอดีกับจอกรองน้ำยาง ทำลวดที่จะรัดกับต้นยางไห้เป็นหยัก มัดเป็นมัดๆ ละ 100 เส้น เส้นลวดที่มาจากโรงงาน 1 ม้วน มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ที่เป็นลวดเบอร์เล็กสามารถนำมาทำที่วางจอกยางได้ประมาณ 1,500 เส้น หากเป็นลวดเบอร์ใหญ่ได้ 1,000 เส้น
“สมาชิกที่มาทำจะได้ค่าแรง 200 บาทต่อเส้นลาด 1 ม้วน หรือ 50 กิโกกรัม สมาชิกจะมาทำกันหลังจากกรีดยางเสร็จแล้ว รวมถึงวันที่ฝนตกหรือวันหยุดกรีดยาง บางคนทำได้ถึง 4 ม้วนต่อวัน ซึ่งก็เท่ากับมีรายได้วันละ 800 บาท” นายสมคิด กล่าวและว่า
ลวดเหล็กที่วางจอกยางผลิตได้ส่งไปขายให้กับร้านค้าในตลาดแม่ขรี อำเภอตะโหมด รวมถึงส่งไปยังจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลด้วย โดยลวดขนาดเล็กขายส่งเส้นละ 1.80 บาท ส่วนลวดเส้นใหญ่ขายส่ง 2.40 บาท แต่ละปีผลิตได้ประมาณ7-8 แสนเส้น หรือใช้เหล็กประมาณ 500 ม้วน หรือราว 25,000 กิโลกรัม จึงมีรายได้เข้าชุมชนประมาณ 1.5-1.6 ล้านบาท
“ถือเป็นกิจกรรมของชุมชนที่ช่วยกระจายรายได้ให้สมาชิก สามารถมีชีวิตอย่างพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้สมาชิกไม่ต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้าน ทำให้ครอบครัวอบอุ่น มีความรักความสามัคคีในชุมชน และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ด้วยความสะดวก นอกจากนั้นยังมีสวัสดิการในยามเจ็บป่วยสำหรับเกษตรกรได้อีกด้วย” นายสมคิด กล่าวตบท้าย