ศูนย์ข่าวภูเก็ต- องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกวางศิลาฤกษ์สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชย เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา
เมื่อเวลา 13.45 น.วันนี้ (2 มี.ค.) ที่บริเวณวัดท่าฉัตรไชย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชย ซึ่งทางองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธสมาคมจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ต จัดสร้างขึ้น โดยมี สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายแผน วรรณเมธี ประธานองค์การ พ.ส.ล.นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารองค์การ พ.ส.ล.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สำหรับการจัดสร้างสถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชยนั้น เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ในปี 2554 เป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสดงความจงรักภักดี และเผยแพร่พระเกียรติคุณ น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ เหตุที่องค์การ พ.ส.ล.สร้างสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวขึ้นที่ จ.ภูเก็ต เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดภูเก็ต ไม่มีสถานปฏิบัติธรรมสำหรับชาวต่างชาติที่สนใจจะศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาเลย ทั้งๆ ที่ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปีละ 4-5 ล้านคน ชาวต่างชาติจากนานาประเทศจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวพุทธในประเทศไทย และเป็นการเรียนรู้พระพุทธศาสนาตามหลักที่ถูกต้อง เพื่อเอื้อต่อการศึกษา และปฏิบัติธรรมอันเป็นพื้นฐานการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงต่อไป
ในส่วนของการสอนการปฏิบัติธรรมนั้น ทางองค์การ พ.ส.ล.ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม พระธรรมบัณฑิต วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาวางแผนการอบรมและการสอนปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวต่างชาติเป็นประจำตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับอาคารที่ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ผนังภายนอกก่ออิฐโชว์ทั้งหลัง เป็นลักษณะอาคาร 2 หลังประกอบกัน มีทางเชื่อมชั้นบนอาคารเป็นสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปีเศษ