สตูล - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเวทีเสวนา และให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดภาคใต้ พ.ศ.2553 พร้อมนำชาวบ้านระดมสมอง เข้ามีส่วนร่วมเสนอแนวทาง แก้ไขปัญหาความวุ่นวายของชายแดนภาคใต้
วันนี้ (21 ก.พ.) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาและให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดภาคใต้ พ.ศ.2553 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) อย่างบูรณาการและเป็นระบบ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ผู้นำท้องถิ่น นักเรียน เข้าร่วมรับฟัง กว่า 500 คน ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล
ทั้งนี้ การเดินทางมาร่วมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดภาคใต้ พ.ศ.2553 เพื่อได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมี นายภานุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกิจกรรมการเสวนา โดยจัดขึ้นในพื้นที่ จ.สตูล เป็นครั้งที่ 6 พร้อมสร้างให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีความรู้ในกฎบัญญัติ การบริหารราชการภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนในภาพรวมของความมั่นคงกำลังถดถอยลง ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
นายถาวร กล่าวว่า การเปิดเสวนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 โดยนำเรื่องวาระในการประชุมส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด และร่วมหาวิธีแนวทางแก้ไข ซึ่งการแก้ปัญหาตรงนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมในภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาทางสามจังหวัดชายแดนได้ ซึ่งทางรัฐบาลเร่งหาทางแก้ไข แต่ถือว่ายังส่งผลไม่สำเร็จ แต่เราต้องทำหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจอย่างมาก วันนี้ประชาชนเสนอการแก้ไขโดยต้องมองว่ารัฐบาลควรทำหน้าที่ เข้าใจประชาชนกับความต้องการของเขา สิ่งที่ถูกเป็นอย่างไร สิ่งที่ผิดคืออะไร การแบ่งแยกผลเสียที่กลับมาคืออะไร โดยรัฐบาลเองต้องลงมาสร้างความเข้าใจ คำว่าสันติ ให้ประชาชนรู้ถึงความสงบสุข
นายถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเสวนาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเป็นการบูรณาการแผนงานกำกับเร่งรัด สร้างความรู้แก่ประชาชนที่เข้าใจ พร้อมกับความร่วมมือของ ศอ.บต.ที่ทำหน้าที่เยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ กำกับดูแลเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ และส่งเสริมการศึกษา พหุวัฒนธรรม กิจกรรมฮัจญ์ กำหนดเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ