ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ชาวบ้านร้องเรียนหวั่นบ้านโบราณกลางเมืองสงขลาพังเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรบนถนน ซึ่งมีการรื้อถอนไปแล้วส่วนหนึ่งแต่ถูกกรมศิลปากรสั่งระงับและเข้ามาจัดการแทนท้องถิ่น โดยลงมือเขียนแบบบ้าน พร้อมลงขันก่อสร้าง ด้านเจ้าของบ้านสุดช้ำ ไร้กรรมสิทธิ์ดำเนินการและขาดรายได้เกือบ 3 ปี
วันนี้ (22 ม.ค.) จากกรณีที่มีการร้องเรียนถึงความไม่ปลอดภัยของบ้านโบราณอายุนับร้อยปีบนถนนนางงาม อ.เมือง จ.สงขลา ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมอาจพังทลายลงได้ทุกเมื่อ และอาจเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรบนถนน ตลอดจนทรัพย์สินและบ้านเรือนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามที่ โดยมีการติดป้ายประกาศของเจ้าของบ้านความว่า
“อาคารหลังนี้ เจ้าของไมมีอำนาจในการซ่อมแซมได้ เนื่องจากติดกฎหมายของกรมศิลปากร ถ้าเจ้าของทำการรื้อถอนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และเจ้าของได้ให้ทางกรมศิลปากรที่ 13 สงขลาทำการรื้อถอนและซ่อมแซมตามดุลพินิจ ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.54 เป็นต้นไป ดังนั้น ทางเจ้าของบ้านจะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการพังทลายของบ้านหลังนี้”
โดยการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว ได้ทราบข้อมูลว่า บ้านหลังดังกล่าวมีรูปแบบบ้านทรงจีนโบราณ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หรืออายุประมาณ 170 ปี ปัจจุบันในสภาพที่ทรุดโทรมมาก โดยทั้งในถนนนางงาม นครนอกและนครในมีบ้านโบราณอีกหลายหลังซึ่งเจ้าของบ้านที่เป็นทายาทรุ่นหลังได้แยกย้ายไปอาศัยที่อื่นแทน โดยบ้านที่ยังมีสภาพแข็งแรงมีการเปิดให้เช่าทำกิจการค้า แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้รับการดูแลหรือซ่อมแซม เนื่องจากค่าซ่อมแซมสูงกว่าบ้านในรูปแบบปัจจุบัน และหาช่างที่มีฝีมือและความรู้ตลอดจนวัสดุได้ยาก ทำให้ก่อนหน้านี้มีการรื้อถอนบ้านเก่าในย่านดังกล่าวมาแล้วหลายหลัง และบางหลังมีกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อไปแล้วก็มี
โดยในสมัยนายอุทิศ ชูช่วย ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา โดยการรักษาบ้านโบราณที่ตั้งอยู่บนถนนนางงาม นครนอกและนครใน ไม่ให้มีการรื้อถอน โดยมีกรมศิลปากรมาขึ้นทะเบียนบ้านเก่าในย่านดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการบูรณะหรือซ่อมแซมบ้านโบราณจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่เจ้าของบ้านนั้นก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการครอบครองบ้านและที่ดินได้เลย
และจากการสอบถามเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งขอสงวนชื่อเนื่องจากติดปัญหากับหน่วยงานราชการที่ต้องการเข้ามาอนุรักษ์ และมีการติดต่อเพื่อกดดันกว้านซื้อจากกลุ่มนายทุน เปิดเผยว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านทรงจีนได้รับการตกทอดเป็นมรดกจากบรรพบุรุษที่สร้างมาตั้งแต่สมัย ร.3 และมีหลุมหลบภัย ขนาดหน้ากว้าง 20 เมตร ลึก 6.5 เมตร
แม้ตนซึ่งเป็นทายาทรุ่นหลังไม่ได้อยู่ใน อ.เมืองสงขลา แต่ได้รับประโยชน์จากการให้เช่า จนกระทั่งสภาพทรุดโทรมมากตามกาลเวลา และไม่มีผู้เช่าเนื่องจากหวั่นว่าจะอาคารจะพังลงมา ประกอบกับมีชาวบ้านโทรศัพท์ร้องเรียนถึงความไม่ปลอดภัยของตัวอาคารอยู่เป็นระยะ ด้วยเป็นบ้านเก่าที่ไม่มีรากฐานมีโครงสร้างเพียงอิฐ ปูน และตัวอาคารพังทลายลงมาเกินกว่าที่จะซ่อมแซม จึงต้องการที่จะรื้อถอนเพื่อสร้างตึกใหม่เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ
ดังนั้น ประมาณปี 2551 จึงแจ้งความจำนงต่อเทศบาลนครสงขลาในฐานะหน่วยงานในท้องที่ โดยกองช่างของเทศบาลช่วยประสานงานช่างเพื่อรื้อถอน และเทศบาลฯ เสนอให้ตนก่อสร้างใหม่ในแบบชิโนโปรตุกีส ซึ่งอยู่ในสมัย ร.5 และขอให้เทศบาลฯ เป็นผู้เช่าในราคาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี แต่ตนยังไม่ตัดสินใจใดๆ เนื่องจากแบบที่เสนอไม่ตรงตามแบบเดิม อีกทั้งต้องออกเงินก่อสร้างเอง จึงรับทราบข้อเสนอเท่านั้น
“เมื่อมีการรื้อถอนดำเนินการเกือบเสร็จสิ้นก็มีชาวบ้านโทรศัพท์ร้องเรียนกรมศิลปากรว่ามีการทำลายบ้านโบราณ เนื่องจากเป็นบ้านอนุรักษ์ที่ถูกขึ้นทะเบียนแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เคยเห็นหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน และมีคำสั่งระงับเพียงวาจาเท่านั้น แต่ก็ไม่กล้าดำเนินการต่อเนื่องจากเกรงว่าจะผิดกฎหมาย หลังจากนั้นเทศบาลนครสงขลาก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกเลย” เจ้าของบ้านกล่าวต่อและว่า
และจากการติดต่อกับกรมศิลปากรทำให้ทราบว่า กำลังมีการเขียนแบบบ้านขึ้นใหม่เพื่อของบประมาณจากกรุงเทพฯ เพื่อสร้างใหม่ ล่าสุดเมื่อปี 2553 แจ้งว่ามีค่าก่อสร้าง 1.3 ล้านบาท ด้วยต้องใช้วัสดุทดแทนให้เหมือนของเก่า แต่รัฐมีงบประมาณเพียง 800,000 บาท นั่นหมายความว่าตนในฐานะเจ้าของจะต้องสมทบเงินเอง 500,000 บาท โดยที่แบบใหม่นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง เนื่องจากไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามข้อมูลจากตนที่เป็นเจ้าของบ้านเลย และค่าก่อสร้างนั้นถือว่าแพงเกินไปด้วยพื้นที่ทั้งหมดเพียง 38 ตารางวาเท่านั้น อีกทั้งยังไม่รู้ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะมีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิ์ใดๆ บ้าง
ดังนั้น ตลอดเวลาที่ต่อมากรมศิลปากรได้เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ตนในฐานะเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ทำให้ขาดรายได้ และหวั่นว่าซากอาคารดังกล่าวที่พร้อมจะพังลงมาทุกเมื่อจะสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในบริเวณนั้น อีกทั้งยังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะสามารถดำเนินการอย่างไรกับบ้านหลังนี้ได้ เนื่องจากทุกฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์นั้นไม่มีความชัดเจนทั้งนโยบายและวิธีการปฏิบัติ ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านต้องเดือดร้อนและยังคงเสียภาษีโรงเรือนทุกปี
สำหรับเรื่องนี้ มีแหล่งข่าววงในตั้งข้อสังเกตว่า จากที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นมีการกล่าวอ้างว่ามีการขึ้นทะเบียนบ้านที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปบนถนนนางงาม นครนอก และนครใน อ.เมืองสงขลา เพื่อเป็นการอนุรักษ์นั้น พบว่ายังไม่มีเจ้าของบ้านหลังใดเห็นเอกสารการจดทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อจะมีการรื้อถอนกลับถูกคัดค้านจากชาวบ้านและกรมศิลปากร ทำให้ลูกหลานของบ้านเก่าที่ได้รับมรดกตกทอดไม่สามารถดำเนินการใดๆ เช่นกรณีนี้ ขณะเดียวกันกลับถูกนักธุรกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกับนักการเมืองพยายามหว่านล้อมเพื่อขอซื้อในราคาถูก