นครศรีธรรมราช - กฟผ.เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนครศรีธรรมราช 2 โรง คือท่าศาลา และหัวไทร โดยนำประชาชนไปศึกษาดูงานแต่ไม่มีการขยายผลหรือการต่อยอดซึ่งเป็นการละลายเงินให้สูญเปล่า เพื่อซื้อใจประชาชนให้เห็นด้วยกับโครงการต่างๆ พร้อมผุดอีกที่ที่จังหวัดตราด
วันนี้ (19 ม.ค.) แหล่งข่าวภายในรายหนึ่งเปิดเผยว่าความเคลื่อนไหวในการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งคณะทำงาน กฟผ.ได้ลงพื้นที่ 2 จุดคือ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยมีสำนักงานหลักตั้งอยู่ที่สถานีย่อยไฟฟ้าแรงสูง กฟผ. ริมถนนราชดำเนิน ต.ศาลามีชัย อ.เมือง ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เป็นสถานีบริหารทั้งสองแห่ง ซึ่งมีความเคลื่อนไหวของการเดินหน้าโครงการจากทั้ง 2 พื้นที่
โดยมีการบริหารจัดการแบบเน้นการทำโครงการต่างๆ ในพื้นที่การแจกสิ่งของ การพาคณะต่างๆ ไปทัศนศึกษาดูงานนอกพื้นที่ สนับสนุนงบประมาณหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ เช่นสถานีอนามัย โรงพยาบาล วัด มัสยิด เป็นต้น ซึ่งภาพรวมนั้นได้สร้างความหนักใจให้กับผู้บริหารระดับสูงบางรายเนื่องจากผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นแทบไม่ได้ส่งผลบวกกับ กฟผ.เลยกลับมีแรงต้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทวีมากขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากป้ายที่ชาวบ้านได้จัดทำขึ้นเองตามบ้านต่างๆ โดยเฉพาะใน อ.ท่าศาลา เป็นกระแสที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเห็นได้ชัด
“ในแต่ละโครงการที่ทำนั้นมักจะใช้วิธีการให้บรรลุโครงการด้วยวิธีการเน้นใช้งบประมาณเสร็จสมบูรณ์ โดยไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์ใดๆ ในเชิงบวกกับ กฟผ.กลับมาเลย ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะการศึกษาดูงานตามแหล่งต่างๆ นั้นเหมือนกับการละลายงบเปล่าๆ เนื่องจากไม่มีการขยายผลหรือการต่อยอดจากคณะดูงาน เหมือนกับไปดูงานแล้วรายงานโครงการสำเร็จถือว่าจบ การทำโครงการสำเร็จเป็นวิธีการของข้าราชการแบบโบราณที่เน้นการทำงานให้จบไปตามโครงการ โดยไม่มีการติดตามประเมินผล หรือติดตามผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว
แหล่งข่าวรายเดิมยังกล่าวต่อว่าแม้ว่าคณะทำงานในพื้นที่จะอ้างว่า ทีมงาน กฟผ.ลงพื้นที่ไปเผยแพร่ข้อมูลทำความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น แต่ในเชิงซ้อนการเดินหน้าโครงการนั้นกลับถูกกำหนดพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนแล้ว คือการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น 2 โรงในพื้นที่นครศรีธรรมราช คือใน อ.ท่าศาลา 1 โรง ส่งผ่านกระแสไฟฟ้าไปทางตอนเหนือของภาคใต้ และใน อ.หัวไทร 1 โรงส่งกระแสไปทางตอนล่างของนครศรีธรรมราชหรือภาคใต้ตอนล่าง
เนื่องจาก จ.นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่อยู่ตอนกลางของภาคใต้พอดี มีพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่เหมาะสม จึงเป็นภูมิประเทศของความมั่นคงทางพลังงานที่เหมาะสมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอีกโรงที่จะสร้างในเร็วๆ นี้บ้านไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเช่นเดียวกัน
“ดังนั้น ในพื้นที่นครศรีธรรมราช ถือเป็นพื้นที่ที่น่าห่วงใน 2 อำเภอ คือในเรื่องของความแตกแยกที่เกิดขึ้น ในส่วนที่สนับสนุนเป็นส่วนของผู้ที่จะได้ประโยชน์ แต่ในส่วนที่คัดค้านเป็นชาวบ้านที่พยายามปกป้องรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการต่อต้านที่เพิ่มระดับมากขึ้น ในขณะที่ กฟผ.เองพยายามทำโครงการที่สนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นการเติมเชื้อของความเกลียดชังให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วย
ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.จะต้องเร่งทบทวนการทำงานในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จะต้องพยายามศึกษากรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นศึกษาอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น” แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว