ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มูลนิธิซิเมนต์ไทยลงพื้นที่อู่ต่อเรือเกาะหมาก อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง เพื่อทำพิธีเอาฤกษ์ปล่อยเรือ กว่า 9 ลำ ออกสู่ท้องทะเล หลังจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเรือของชาวประมงที่ได้รับความเสียหายจากพายุดีเปรสชันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
วันนี้ (18 ม.ค.) มูลนิธิซิเมนต์ไทย ลงพื้นที่อู่ต่อเรือ ที่ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง เพื่อทำพิธีปล่อยเรือของชาวประมง จากทางมูลนิธิซิเมนต์ไทยที่ได้ให้งบประมาณในการจัดตั้งอู่ซ่อมแซมเรือประมงที่เสียหาย หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุดีเปรสชั่น เมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ความรุนแรงของพายุทำให้เรือประมงของประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ซึ่งขณะนี้เรือประมงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับการช่วยเหลือและซ่อมแซมเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยในวันนี้เรือที่ได้รับการซ่อมแซมที่แล้วเสร็จและสามารถที่จะนำออกไปหาปลาได้ มีทั้งสิ้น 9 ลำ โดยวันนี้ชาวบ้านก็ได้ทำพิธีปล่อยเรือสู่ทะเลเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนชาวประมงจะออกเรือไปประกอบอาชีพ
นางสุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ในวันนี้ตนพาทีมงานมาดูความคืบหน้าที่เราได้เปิดให้มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน และสร้างอู่ซ่อมเรือ สำหรับผู้ที่ประสบภัยธรรมชาติรอบทะเลสาบสงขลาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เวลาเกือบเดือนที่ผ่านมานั้นเราได้ให้งบประมาณสร้างอู่ซ่อมเรือให้แก่ชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งชาวบ้านก็สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อซ่อมเรือให้กับสมาชิก ขณะนี้เรือได้ซ่อมแซมเสร็จแล้วทั้งหมด 9 ลำ มีทั้งซ่อมบางส่วนและสร้างใหม่
ส่วนเมื่อวานนี้ไปคุยกับบ้านคูขุด ซึ่งเป็นอีกบ้านหนึ่งที่รับความเสียหาย โดยได้ไปคุยถึงเรื่องกฎกติกา ถ้าจะให้มูลนิธิซีเมนต์ไทยให้ความช่วยเหลือ เราจะทำในลักษณะไหนบ้าง ก็จะใช้โมเดลที่เคยมีประสบการณ์จากการช่วยพี่น้องทางฝั่งอันดามัน
นางสุรนุช ธงศิลา กล่าวอีกว่า วิธีการช่วยเหลือของเราไม่ได้เป็นการบริจาคหรือให้เปล่า จะให้ในลักษณะที่ผู้ให้ก็เคารพผู้รับ และผู้รับก็รับอย่างมีศักดิ์ศรี โดยเป็นการร่วมมือกันช่วยเหลือพี่น้อง ลักษณะที่ทำนี้การแบ่งเงินเป็นสองส่วน ส่วนแรกการให้เปล่าจะเป็นของการตั้งอู่ซ่อมเรือ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือน และเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือการซ่อมเรือ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นในลักษณะกองทุนหมุนเวียน หมายถึงว่าสมาชิกที่ต้องการซ่อมเรือ ต้องมากู้ยืมเงินจากกองทุนนี้ไป เวลากู้ไปแล้วไม่ว่าจะซ่อมเรือหรือซื้อเครื่องมือประมง และซื้อเครื่องยนต์เรือ
ในเรื่องของการคืนเงินนั้น ชาวบ้านก็ต้องทยอยเอาเงินมาคืนกองทุนเรือแล้วแต่ตกลง เพราะว่าแต่ละกองทุนและแต่ละชุมชนจะต้องตั้งคณะกรรมการจากสมาชิกในชุมชนเอง ส่วนเงินที่ได้คืนมานั้นมูลนิธิซิเมนต์ไทยไม่ได้เอาคืน แต่จะยกให้แก่ชุมชนไว้เป็นกองทุนช่วยเหลือพี่น้องของชุมชนนั้นๆต่อไป เงินก้อนที่คืนมากลายเป็นเงินออมของชุมชน ฉะนั้น การช่วยเหลือในลักษณะนี้จะทำให้ชุมชนนี้มีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของเงินร่วมกัน จะเกิดความหวงแหนในเงินที่ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา การจัดทำลักษณะนี้ก่อให้เกิดการรวมตัวของชุมชน ร่วมกันพุดคุย ดูแล และเกิดทักษะการบริหารจัดการ นางสุรนุช ธงศิลา กล่าว
นายสมนึก พรรณศักดิ์ เจ้าหน้าที่สมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ตอนนี้เรือที่ได้ซ่อมแซมเสร็จแล้วมีทั้งหมด 9 ลำ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย โดยเรือที่ซ่อมเสร็จแล้วนั้นได้นำออกไปหาปลาได้ 1 เดือนแล้ว และตอนนี้ชาวบ้านก็รออาคารที่ทำการอู่ต่อเรือหลังใหม่
และในวันนี้เจ้าหน้าที่มูลนิธิมูลนิธิซิเมนต์ไทย ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความคืบหน้า พร้อมทั้งมาให้กำลังใจ และคำแนะนำว่าเมื่อออกหาปลามาแล้วจะนำสินค้าไปจำหน่ายอย่างไรให้ได้ราคาดีและแก้ไขปัญหาอย่างไรหากเกิดอุทกภัยหรือวาตภัยขึ้นอีก
นายอนันต์ รอดรวยรื่น เจ้าของเรือที่ได้รับความเสียหาย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เรือได้ซ่อมแซมเสร็จแล้วและสามารถที่จะนำออกไปหาปลาได้ ซึ่งตอนที่เรือได้รับความเสียหายตนได้กู้ยืมเงินของมูลนิธิซิเมนต์ไทยมาซ่อมแซมเรือ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องออกหาปลาเก็บเงินเพื่อตั้งตัวใหม่และนำไปคืนให้กับมูลนิธิซิเมนต์ไทย เพื่อที่คนอื่นๆ ที่เดือดร้อนเรือได้รับความเสียหายก็จะได้กู้ยืมเงินต่อไป
เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ บุญรัตน์ เจ้าของเรือที่ได้รับความเสียหาย กล่าวว่า ตนก็รู้สึกดีใจ และภูมิใจที่มีคนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพราะเรือประมง คือ เครื่องมือหากินที่เป็นอาชีพหลัก ซึ่งในการออกเรือตนจะได้เงิน 520 บาทต่อวัน ที่เป็นรายได้เลี้ยงชีวิตคนในครอบครัว