ยะลา - สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าสู่ปีที่ 8 มีครูเสียชีวิตจากเหตุการณ์จำนวน 137 ราย และได้รับบาดเจ็บ 122 ราย ตลอดจนขอย้ายออกจากพื้นที่ 6,178 ราย ขณะที่วันครูปีนี้ครูทุกคนหวังอยากให้ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสียสละทั้งเวลา เสียสละทั้งชีวิต และอยากให้เหตุการณ์สงบสุขโดยเร็ว อยากเห็นแสงสว่างที่เปิดทางให้เยาวชนในพื้นที่เดินทางไปสู่ความสำเร็จต่อไป
วันนี้ (15 ม.ค.) สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ย่างเข้าปีที่ 8 แล้ว เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2547 โดยมีหน่วยกำลังไม่ทราบฝ่ายจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน บุกเข้าปล้นอาวุธปืนในคลังของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 412 กระบอก หลังจากนั้นเกิดเหตุร้ายรายวันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการลอบยิง วางระเบิด เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ลอบฆ่ารายวันประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 4,000 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 10,000 คน
ทั้งนี้ บุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูเป็นเป้าหมายหนึ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้พยายามก่อเหตุร้ายขึ้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองต่อรัฐบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ครูได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มากกว่าหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ มีตัวเลขครูถูกลอบทำร้ายถึงแก่ชีวิตไปแล้ว จำนวน 137 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 122 ราย มีนักเรียนเสียชีวิตจำนวน 36 ราย ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 162 ราย ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำนวน 56 ราย มีข้อมูลสถิติครูขอย้ายออกจากพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นไป จำนวน 6,178 ราย แต่สามารถย้ายออกไปได้เพียง 1,843 ราย เท่านั้นเอง
แม้ว่าครูคือบุคลากรสั่งสอนให้เด็กทุกคนมีวิชาความรู้ เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตที่ดีอยู่ในสังคม และเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศชาติ แต่กลุ่มคนร้ายยังไม่เว้นที่จะลงมือฆ่าครู เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งในสภาวะปัจจุบันการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกตราหน้าว่าคุณภาพทางการศึกษาด้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆของประเทศ ครูต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องหวาดระแวงที่อาจจะเกิดภัยกับตัวเอง เมื่อการเดินทางออกจากบ้านไป - กลับ เพื่อไปทำการเรียนสอนต้องมีกองกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ให้การคุ้มครอง แม้กระทั่งในระหว่างการสอนหนังสือภายในโรงเรียนก็ต้องมีกำลัง ทหารหรือชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) มาให้การดูแล
ในวันครูวันนี้ครูในพื้นที่จังหวัดยะลายังต้องใช้กำลังทหาร จัดรถยนต์หุ้มเกราะนำไปส่งยังโรงเรียนต่างๆ เหมือนเช่นเคย ในตอนเช้าครูต้องมารวมพลกันที่จุดนัดพบ เมื่อได้เวลากำลังทหาร จะนำขบวนรถยนต์พาหนะครูออกไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมกันนี้กำลังทหาร ส่วนหนึ่งยังคงประกบครูในระหว่างทำการสอนภายในโรงเรียนอีกด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครู เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านบันนังบูโย ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาย 410 ยะลา - เบตง หมู่ที่ 2 ต.บันนังสาเร็ง อ.เมือง จ.ยะลา ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ลอบวางเพลิงเผาอาคารเรียนแบบ 017 จำนวน 2 หลัง จำนวน 16 ห้อง พร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ และอื่นๆได้รับความเสียทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ได้สร้างอาคารเรียนใหม่ทดแทนเป็นอาคารเรียนแบบ 105/29 จำนวน 2 หลัง จำนวน 16 ห้อง เช่นเดิม ซึ่งได้รับเงินงบประมาณจากโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นเงิน จำนวน 8 ล้านบาท และในขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทหาร กองร้อย ร.5031 หมวดปืนเล็กที่ 3 ฉก.11 อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 บ้านบันนังบูโย คอยดูแลรักษาความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยเส้นทาง ตั้งแต่ 07.00 น. - 16.00 น.ทุกวัน
นางรุจิรา เรียบเจริญ ตำแหน่ง ครู ค.ศ. 2 ครูโรงเรียนบ้านบันนังบูโย ที่สอนหนังสือในพื้นที่มาแล้วกว่า 5 ปี กล่าวว่า การเรียนการสอนในพื้นที่นั้น ครูมีการเรียนการสอนตามปกติ เพียงแต่ช่วงเวลามีความกระชั้นชิดเกินไป ซึ่งคณะครูจะต้องรีบกลับตามขบวนที่มีเจ้าหน้าที่คอยรักษาความปลอดภัยอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาคณะครูประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และการจัดการเรียนการสอนยังไม่เต็มที่เนื่องจากเวลาน้อยไป สิ่งที่อยากจะให้ช่วยเหลือคือการดูแลรักษาความปลอดภัยชีวิต และทรัพย์สินซึ่งครูก็ได้รับมาแล้ว
และสิ่งที่สำคัญรองลงมาคือ ครูอยากได้ความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพครู อยากให้ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพครู สำหรับครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกรณีพิเศษ เพราะว่าครูที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ มีความเสียสละทั้งเวลา เสียสละทั้งชีวิต หากถามว่าครูที่สอนอยู่ในพื้นที่กลัวหรือไม่ ก็กลัวอยู่เหมือนกัน แต่มันเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนเองและเพื่อนครูอีกหลายคนก็ได้กำลังใจจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ และได้กำลังใจจากเด็กนักเรียนที่อยู่ที่นี่ทำให้ครูไม่กลัว
สำหรับการสอนนักเรียนที่นี่นั้น มีการเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าให้นักเรียนทุกคนเป็นคนดี สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่าไปสนใจ ต่อไปข้างหน้าลูกศิษย์ ต้องเป็นคนดีซึ่งพยายามที่จะปลูกฝังทุกวัน ส่วนที่ทางนายกรัฐมนตรีจะลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเร็วๆนี้ เพื่อพบปะครูนั้น ตนเอง และเพื่อนครูรู้สึกดีใจมากที่ท่านจะได้มาเห็นสภาพของครูที่นี่ว่าครูที่นี่มีความเป็นอยู่อย่างไร ท่านอาจจะถามครูที่นี่บ้างว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นครูที่นี่ ตนเองอยากจะฝากเพื่อนครูที่อยู่ในพื้นที่ว่าให้มีความอดทน และพยายามปลูกฝังนักเรียนในพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นคนดี ก็เพียงพอแล้ว ต่อไปในอนาคตหวังว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก ก็หวังอย่างนั้น
ส่วนนางอุไร สันติวรานนท์ ตำแหน่ง ครู ค.ศ. 2 ครูในโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งสอนในพื้นที่มาแล้วกว่า 36 ปี พื้นเพเดิมเป็นคน จ.พัทลุง กล่าวว่า หากถามว่าเป็นครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสี่ยงหรือไม่นั้นตอบได้เลยว่าเสี่ยง แต่ว่าด้วยใจรักในการเป็นครูก็เต็มใจที่จะมาสอนนักเรียนในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำให้เด็กได้รับความรู้ และจะให้มีความสามารถเท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งตนเองไม่เคยคิดที่อยากจะขอย้ายออกนอกพื้นที่เลย เพราะตนเองเคยสอนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 36 ปี ไม่เคยคิดเลยในชีวิต ที่ว่าจะขอย้ายออกไปจาก 3 จังหวัด ตนเองชอบที่จะอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า ชอบนักเรียน ชอบชุมชน ถึงแม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นมา หากตนเองได้ประสบกับตัวเองขึ้นมาจริงๆ คนในชุมชนก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ขณะนี้ก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบ ตนเองมีความสุขกับเด็กๆ เด็กที่นี่พูดง่าย ก็ไม่ได้มีความเกเรแต่อย่างใด เชื่อฟังครู
หากเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ตนเองขอยืนยันว่าไม่คิดที่จะย้ายไปไหน วันที่ 16 ม.ค.นี้ ก็เป็นวันครู ตนเองและเพื่อนครู ก็อยากจะได้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน นำสื่อ นำอุปกรณ์ต่างๆที่มีในส่วนของจังหวัดอื่นที่ได้รับมา ส่งมายังเด็กนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัด เด็กๆจะได้รับความรู้มากกว่านี้ มีความเท่าเทียมกับเด็กนักเรียนในจังหวัดอื่น ในความรู้สึกของตนเองนั้น เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ในอดีตที่ผ่านมาหากมีการจัดงานต่างๆ มีกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู หากถึงกลางค่ำกลางคืน ก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ สำหรับการปลูกฝังนักเรียนนั้น ตนเองปลูกฝั่งให้นักเรียนทุกคนเป็นเด็กดีของชาติ เป็นเด็กดีของพ่อ-แม่ เป็นเด็กดีของครู สอนให้นักเรียนได้รับความรู้ เพื่อที่จบออกไปแล้ว จะได้มีการศึกษาที่สูงๆ และมีงานการที่ดี เพื่อที่จะมาเลี้ยงครอบครัว
สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ต่อครูนั้น ที่ผ่านมาก็ดีอยู่แล้วสุดท้ายอยากจะฝากไปถึงเพื่อนครูทุกคนว่า อยากจะให้ระมัดระวังตัว ระมัดระวังในการทำงาน อย่าคิดว่าระยะเวลา หรือ เส้นทางที่เราเดินมา หรือ ไป-กลับ มันจะมีความปลอดภัย ต้องระวังตัวเองให้มากที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับเราในการเดินทางไป - มา โรงเรียน อยากให้คนในพื้นที่มีความสามัคคีกัน อยากให้เหตุการณ์สงบสุขโดยเร็ว สถานการณ์ใต้จะยุติลงได้จริงหรือไม่ ความปลอดภัยของคุณครู จะกลับคืนมาได้หรือไม่ เราทุกคนคาดหวังว่าวันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือแสงสว่างที่เปิดทางให้เยาวชนในพื้นที่เดินทางไปสู่ความสำเร็จ ความมั่นคง มีอนาคตที่สดใส และที่สำคัญคำว่า “ด้อยคุณภาพ” ทางการศึกษาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะหายไปเป็นอดีตที่ทุกคนไม่อยากถามถึงและคิดถึงทันที