xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งพัทลุงขยายวงกว้าง เจอปัญหาเบิกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - ภัยแล้งขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น แหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มแห้งขอด เกษตรกรชาวนาต้องปล่อยต้นข้าวให้เฉาตาย ในขณะที่ทางจังหวัด ยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือเกษตรได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ

วันนี้ (30 มี.ค.) นายวงค์ รัตนมุสิก อายุ 62 ปี เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ ต.พญาขัน อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า ตนปลูกข้าวพันธ์ชัยนาทในพื้นที่ 30 ไร่ กำลังประสบปัญหาขาดน้ำหลังจากที่น้ำในลำคลองควนถบที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ใช้เพื่อการเกษตรของหมู่บ้านแห้งขอดส่งผลกระทบให้เกษตรกรชาวนาในเดือดร้อน

ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้น เกษตรชาวนาที่อยู่ต้นน้ำกว่า 5,000 ไร่ ต้องแบ่งปันการใช้น้ำโดยการแบ่งพื้นที่นาออกเป็น 5 ส่วน ส่วนละกว่า 1,000 ไร่ และจะสลับกันสูบน้ำเข้าพื้นที่นา เพื่อประคองให้ต้นข้าวที่กำลังออกรวงสามารถยืนต้นฝ่าวิกฤตภัยแล้งไปได้

นายวงค์กล่าวอีกว่า ในขณะที่เกษตรกรชาวนาท้องที่ หมู่ 2 ตำบลลำปำ อ.เมืองพัทลุง ที่อยู่ปลายน้ำต้องปล่อยทิ้งต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องให้เฉาตายคาทุ่งนา เสียหายไปแล้วกว่า 400 ไร่ และหากฝนยังไม่ตกลงมาในช่วงนี้นาข้าวอีกกว่า 2,000 ไร่ จะได้รับความเสียอีกเพราะไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว

นายธนกร ตระบันพฤกษ์ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงมีพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวน 62 ตำบล 350 หมู่บ้านครอบคลุมทั้ง 11 อำเภอ แม้ว่าในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จะไม่รุนแรงนัก แต่ในปีนี้ทางจังหวัดก็ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือโดยการเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสพภัยแล้งแล้ว ที่ว่าการอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง โดยเฉพาะที่จังหวัดได้เปิดศูนย์กลางขึ้นที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบริเวณ ชั้น 2 ของศาลากลางหลังเก่า

ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเร่งซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ และให้ใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพราะปีนี้มีแนวโน้มว่าทุกพื้นที่จะประสบปัญหาแล้งหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา และได้มีการสำรองรถน้ำไว้จำนวน 30 คัน เพื่อให้การช่วยเหลือหากมีประชาชนร้องขอน้ำในกรณีขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค

ส่วนในด้านการเกษตรปีนี้ ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนหันมาปลูกพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อย พร้อมลดพื้นที่การทำนาปรังลงเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะความแห้งแล้งจนทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาการขาดทุน

ทั้งนี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของพื้นที่จังวัดพัทลุงจำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม มีปริมาณน้ำ 9.18 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำป่าบอน อ.ป่าบอน มีปริมาณน้ำ 18.39 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มลดลงถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม


กำลังโหลดความคิดเห็น