ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เอกชนภูเก็ต ระบุ เปิดโต๊ะเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ต้องกำหนดกรอบการแก้ปัญหาให้ชัดเจน ระบุ เสนอยุบสภาแล้วไปตายเอาดาบหน้าเชื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย การยุบสภาต้องมีหลัการและเหตุผล แนะแก้รัฐธรรมนูญก่อนกำหนดกรอบยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ เชื่อยุบสภาตอนนี้ส่งผลกระทบมหาศาล
นายภูริต มาศวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการจัดเวทีเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช.ว่า การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายที่เกิดขึ้นข้อเสนอของแต่ละฝ่ายที่เกิดขึ้นยากที่จะปฏิบัติได้ตามข้อเรียกร้อง เช่น ข้อเสนอของ นปช.ที่เสนอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก เพราะเหตุการณ์ฉุกละหุกในขณะนี้ต้องถามว่ายุบสภาภายใน 15 วัน เพื่ออะไร แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนี้ที่ยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังค่อนข้างเลื่อนลอยว่ายุบสภาไปแล้วจะเกิดผลดีอะไรซึ่งยังมองไม่เห็น
ส่วนกรณีที่แกนนำ นปช.บอกว่า ยุบสภาก่อนแล้วไปตายเอาดาบหน้าประชาชนส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปตายเอาดาบหน้า การยุบสภาจะต้องมีหลักการและเหตุผลมีกรอบการทำงานก่อนถึงจะทำในเรื่องของการยุบสภาได้
ขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ถ้ามองโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้ามีความร่วมมือร่วมใจกันจริงๆแล้วการแก้รัฐธรรมนูญก็คงจะเกิดขึ้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็มีการเสนอขอให้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ว่าหลายฝ่ายยังไม่ให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จริงๆแล้วตัวรัฐธรรมนูญมีข้อปลีกย่อยที่ต้องแก้ไขจริงๆ ที่หลายฝ่ายมองเห็นว่าจะต้องแก้เพียงแต่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังเท่านั้น
เพราะฉะนั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว แต่ในการผ่านนั้นบอกว่าให้รับในหลักการไปก่อนแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งจุดนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ และแก้ไขกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หลังจากนั้นแล้วค่อยยุบสภาเลือกตั้งใหม่
นายภูริต กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย ถกเถียงกันเป็นประเด็นเกี่ยวกับกรอบการทำงาน ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน หลังจากนั้นค่อยกำหนดเวลาในการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนแต่รัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการแก้ไขก่อน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วถ้าเกิดยุบสภาก่อนแล้วมาจัดการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นใคร ก็ยังไม่ทราบรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแนวทางที่ดีที่สุดตนคิดว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงต่างและกำหนดเวลาในการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่แล้วใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว
ด้าน นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวแสดงความเห็นกรณีการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติการชุมนุม และข้อเรียกร้องทางการเมือง ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับ แกนนำ นปช.ว่า โดยส่วนตัวมองว่า การเจรจากันของทั้ง 2 ฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แม้ว่า การเจรจาในรอบแรกจะไม่ได้ข้อยุติที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ก็ตาม เพราะถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะได้รับคำตอบที่ตนเองพึงพอใจจากการเจรจา และพบหน้ากันครั้งแรกระหว่างศัตรูทางการเมือง และมองว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้นำมาใช้เจรจาต่อรองกับแกนนำกลุ่ม นปช.มี 1 ประเด็น คือ เรื่องของระยะเวลาในการยุบสภา เพราะการที่จะประกาศยุบสภานั้น เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่า จะประกาศได้ภายใน 1 วัน หรือ 15 วัน ตามที่ นปช.กำหนด
ทั้งนี้ มองว่า รัฐบาลสมควรเจรจาต่อรองยืดเวลาการยุบสภาออกไปอีกระยะ จะเป็น 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่รัฐบาลพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะอย่างไรแล้วรัฐบาลก็ต้องยุบสภาอยู่ดี เพราะมีอายุบริหารประเทศอีกเพียงกว่า 1 ปี ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ถึงเวลานั้น ก็ถือว่า เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจแล้ว ซึ่งช่วงเวลานี้ สมควรที่จะให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปจนกว่า จะถึงระยะเวลาดังกล่าว การยืดเวลาการบริหารประเทศ เป็นแนวทางที่นานาประเทศทั่วโลกก็นำใช้ปฏิบัติกัน
นพ.ศิริชัย กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญแล้วมองว่า การเจรจากันของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเกม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฟากรัฐบาลเอง ที่ต้องการลดแรงกดดันที่กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.เดินทางไปรวมตัวบริเวณหน้า ราบ 11 ที่อาจจะเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทุกเมื่อ
ดังนั้น จึงต้องยอมรับการเจรจากับแกนนำ นปช.จนกลุ่มคนเสื้อแดงยอมสลายการรวมตัวที่หน้า ราบ 11 แม้การเจรจาจะเกิดขึ้นภายใต้ภาวะกดดันก็ตาม แต่ก็ทำให้สถานการณ์ที่ราบ 11 ไม่รุนแรง ส่วนกลุ่ม นปช.ก็สามารถที่จะยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาล โดยเฉพาะต่อตัวนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผลสำเร็จ และรัฐบาลก็มีทางเลือกที่มากกว่า นปช.มาก การพบกันครึ่งทางถือเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ เพราะหากทุกฝ่ายยอมรับได้ในเงื่อนไขต่างๆ ประเทศชาติก็สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะขณะนี้ปัญหาชาติยังมีอีกหลายด้านที่ต้องได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล หากมีการยุบสภาในช่วงนี้ แน่นอนผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมมากมายมหาศาลอย่างแน่นอน