ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 5 (ภูเก็ต) ชวนนักดำน้ำ-ผู้ประกอบการร่วมดำน้ำเก็บขยะทำความสะอาดบ้านปลา แนวปะการังหาดท้ายเหมือง จ.พังงา ไม่น้อยกว่า 3,000 คน หวังทำสถิติโลกใหม่ เผยแนวปะการังหาดท้ายเหมืองสมบูรณ์ 70% พบปลาหายาก “ปลานกแก้วหัวโหนกหางริ้ว ในแนวปะการัง
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (ภูเก็ต) กล่าวว่า ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) สำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และจังหวัดพังงา จัดโครงการดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการังหาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา รวมทั้งจัดกิจกรรมรวมนักดำน้ำมากที่สุดจำนวน 3,000 คน เพื่อทำสถิติโลก
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์เก็บขยะบริเวณแนวปะการัง ซึ่งเป็นการทำความสะอาดบ้านให้กับปลาในทะเล และร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาดให้กลับมาสวยงามเหมืองในอดีตที่ผ่าน ซึ่งแนวปะการังหาดท้ายเหมืองและชายหาดท้ายเหมืองถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง
นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมดังกล่าวยังป็นการสร้างความร่วมมือร่วมใจ รู้รักสมัคคีซึ่งเป็นการเผยแพร่ภาพลักษ์ที่ดีของประเทศไทยให้คนทั่วโลกได้รับทราบ โดยงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย 2553 ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น.
นายไพทูล กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดเก็บขยะในครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมนักดำน้ำ อาสาสมัคร นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อย่างน้อย 3,000 คน เข้าร่วม ซึ่งนอกจากจะเป็นการรณรงค์เพื่อทำความสะอาดแนวปะการังแล้ว ยังเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อทำสถิติโลกด้วย ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้น จึงอยากเชิญชวนนักนำน้ำจากทั่วโลกเข้าร่วมดำน้ำเก็บขยะในครั้งนี้พร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีการดำน้ำเก็บขยะแล้ว ยังจัดให้มีการปล่อยพันธุ์ปลาสวยงามซึ่งเป็นปลาของกลางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้จากการรับกุมผู้ต้องหาคดีลักลอบจับปลาสวยงามส่งขายต่างจังหวัด
ขณะที่ นายวัฒนา พรประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า แนวปะการังหาดท้ายเหมืองอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 500 เมตร มีแนวปะการังประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีความหลายหลายทั้งในส่วนของชนิดปะการังและสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้งเต่าทะเลที่ทางอุทยานปล่อยกลับลงไป
นอกจากนั้น แนวปะการังดังกล่าวยังเป็นแหล่งที่พบปลาหายาก คือ ปลา “นกแก้วหัวโหนกหางริ้ว” ด้วย สำหรับแนวปะการังที่หาดเหมืองมีความสมบูรณ์มากกว่า 70%