ศูนย์ข่าวภูเก็ต-เผยผลตรวจสอบตัวอย่างแมงกะพรุน บริเวณหาดในหาน จ.ภูเก็ต หลังนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บขณะลงเล่นน้ำที่บริเวณชายหาด ระบุไม่ใช่ “แมงกะพรุนกล่อง” เป็นแมงกะพรุนทั่วไป
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บตัวอย่างแมงกะพรุน ที่บริเวณหาดในหานไปตรวจสอบ หลังมีชาวต่างชาติลงเล่นน้ำ และมีการแพ้ เนื่องจากถูกแมงกะพรุนจำนวน 2 คน ว่า จากการตรวจกรณีชาวต่างชาติจำนวน 2 คน ถูกแมงกะพรุนและเกิดอาการแพ้เป็นผื่น และมีอาการปวดแสบปวดร้อนขณะลงเล่นน้ำ ที่บริเวณชายหาดในหาน ต.ราไวย์ อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีเด็กชายอายุ 4 ขวบต้องส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค.
หลังรับแจ้งทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำการช่วยเหลือ และทำการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี โดยใช้น้ำส้มสายชูราดที่บริเวณผื่นคันและส่งโรงพยาบาลทันที โดยขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว
ส่วนการตรวจสอบประเภทแมงกะพรุน ที่บริเวณหาดในหาน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุโดยการเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนบริเวณชายหาดในหานไปตรวจสอบ พบว่า เป็นแมงกะพรุนกลุ่ม Scyphozoa (แมงกะพรุนแท้จริง) ชนิด Cephea cephea (แมงกะพรุนหัวมงกุฎ) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นแมงกะพรุนทั่วไป ไม่ใช่แมงกะพรุนกล่อง ที่มีพิษร้ายแรง แต่ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้อาจจะมีอาการคันได้ เพราะบางคนอาจจะมีอาการแพ้รุนแรง
นายวรรณเกียรติ กล่าวว่า สำหรับแมงกะพรุนชนิดดังกล่าว เป็นแมงกะพรุนที่พบได้ทั่วไปคนที่โดนแมงกะพรุนดังกล่าวจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน และอาจจะมีอาการใหม้ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับชาวต่างชาติ โดยแมงกะพรุนชนิดนี้จะถูกคลื่นซัดเข้ามาในช่วงที่มีมรสุม เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำจะต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกแมงกะพรุน
ในส่วนของการป้องกันและช่วยเหลือผู้ถูกแมงกะพรุน ที่ผ่านมา มีการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการบริเวณชายหาด และบีชการ์ด ไปแล้ว ซึ่งจากกรณีเกิดเหตุในครั้งนี้อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถทำได้อย่างถูกวิธี ทำให้เด็กที่โดนแมงกะพรุนมีอาการไม่รุนแรงมากนัก
นายวรรณเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษนั้นในส่วนของจังหวัดภูเก็ตยังพบอยู่โดยเฉพาะบริเวณอ่าวน้ำบ่อ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งในส่วนเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา