xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตร่วมประหยัดพลังงานนัดปิดไฟ 1 ชั่วโมง 27 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต เชิญชวนส่วนราชการ บริษัท ห้างร้าน และประชาชนร่วมกิจกรรม Earth Hour 2010 หรือ ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ให้โลกพัก (60 Earth Hour) ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2553


นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครร่วมกับ WWF ประเทศไทย (องค์กรด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ) จัดกิจกรรม 60 Erarth Hour ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปีนี้กำหนดจัดในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2553 ระหว่างเวลา 20.30-21.30 น.

โดยเชิญชวนส่วนราชการ บริษัท ห้างร้าน และประชาชน ปิดไฟ เพื่อลดโลกร้อน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ร่วมกับเมืองใหญ่ทั่วโลก ประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรมที่บริเวณศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า และกำหนดปิดไฟสถานที่สำคัญ หรือแลนด์มาร์กต่างๆ เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร สะพานพระราม 8 เสาชิงช้า และถนนสายหลัก 6 สายในกรุงเทพฯ และได้ประสานความร่วมมือไปยังจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ อีก 8 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น ภูเก็ต เชียงใหม่ อุบลราชธานี และชลบุรี (พัทยา) ร่วมในการรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดโลกร้อน ร่วมกับ 100 ประเทศทั่วโลก โดยจังหวัดภูเก็ต กำหนดจุดปิดไฟ (Landmark) ที่หาดป่าตอง อำเภอกะทู้ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนทั้งจังหวัด ร่วมปิดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไม่จำเป็น 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน

เอิร์ท อาวร์ แคมเปญ (Earth Hour Campaign) หรือ “โครงการปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ.2550 โดย WWF ประเทศออสเตรเลีย รณรงค์ให้ประชาชน หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน พร้อมใจกันปิดไฟ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ข้อมูลการจัดกิจกรรมการปิดไฟ เพื่อลดโลกร้อน เมื่อปี 2551 พบว่าการใช้ไฟฟ้าลดลง 1,423 เมกะวัตต์ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 897 ตัน คิดเป็นค่าไฟฟ้าลด 4.31 ล้านบาท

ในการนี้จังหวัดภูเก็ต ขอเชิญชวนส่วนราชการ บริษัทเอกชน ห้างร้าน และประชาชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมงให้โลกพักโดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 27 มีนาคม 2553 ระหว่างเวลา 20.30-21.30 น.

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน อันเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น