xs
xsm
sm
md
lg

จัดประชุม คกก.พายุไซโคลน 8 ประเทศที่ภูเก็ต - มั่นใจไทยได้รับประโยชน์ด้านการเฝ้าระวังภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เลือกประชุมคณะกรรมการพายุไซโคลนที่ภูเก็ต 8 ประเทศ มั่นใจประเทศไทยได้รับประโยชน์ด้านการเฝ้าระวังเตือนภัย เพื่อรองความผันแปรของสภาพอากาศ

วันนี้ (15 ก.พ.53) ที่ห้องประชุมดาหลา โรงแรมภูเก็ต เกรชแลนด์ รีสอร์ทแอนด์สปา ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายอังสุมาล ศุนาลัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการพายุไซโคลน สมัยที่ 37 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ( United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific : UNESCAP) จัดขึ้น โดยมีหน่วยงานต่างเข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วย Mr.Tokyochi Toya ผู้แทน WMO, Mr.Yuichi Ono ผู้แทน ESCAP และ Dr.Qamar-Uz-Maman Chaudhry เลขาธิการคณะกรรมการพายุไซโคลน

นอกจากนั้น ยังมีสมาชิกคณะกรรมการพายุไซโคลน 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสาธารณรัฐบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สหภาพพม่า รัฐสุลต่านโอมาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ศูนย์จัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติจากน้ำระหว่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย คณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลขององค์การยูเนสโก และองค์การสิ่งแวดล้อมโลก

นายอังสุมาล ศุนาลัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยคาดว่า จะได้รับประโยชน์ในด้านการเพิ่มความเข้มแข็งของความร่วมมือด้านวิชาการ และปฎิบัติการด้านอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะการเฝ้าระวังและเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับความผันแปรของภัยธรรมชาติต่างๆ อันเนื่องมาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะผลกระทบต่อความรุนแรง เส้นทางเดิน และความถี่ของการเกิดพายุไซโคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับคณะกรรมการพายุไซโคลนนั้น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 ภายใต้การอุปถัมภ์ของ WMO และ UNESCAP ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการของคณะกรรมการฯ ตั้งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เพื่อพิจารณาผลกระทบของพายุไซโคลน ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอ่าวเบงกอล และทะเลอาราเบียน

พร้อมทั้งได้มีการหารือในกิจกรรมและกำหนดมาตรการทางด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และแนวทางการเตรียมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อรับมือและลดความสูญเสียจากพายุที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ ปีละครั้ง และให้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพระหว่างประเทศสมาชิก
กำลังโหลดความคิดเห็น