xs
xsm
sm
md
lg

คมธ.วุฒิสภาลงยะลารับฟังปัญหาและติดตามด้านเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามเร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ลงพื้นที่ จ.ยะลา รับฟังปัญหาต่างๆ และติดตามการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา

วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ห้องประชุมต่อสู้และเอาชนะยาเสพติด (ศตส.) ชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวิทวัส บุญญสถิต ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญติดตามเร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา และคณะ ร่วมด้วยคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ประเมินผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การเกษตร การค้า และ การลงทุน เดินทางลงพื้นที่ เพื่อเข้ารับฟังปัญหา และติดตามการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา โดยมีนายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ร่วมให้การต้อนรับ

นายวิทวัส บุญญสถิต ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ฯ เปิดเผยว่า การลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้า ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีการพัฒนาไปถึงจุดไหน มีปัญหาและอุปสรรค์ติดขัดอย่างไรบ้าง ในส่วนของจังหวัดยะลา นั้น ได้สรุปเรื่องที่มีความสำคัญไว้ จำนวน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ประเด็นเกี่ยวกับการวิจัยและ ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่จังหวัดยะลา, 2.กระบวนการและขั้นตอนในการขอประทานบัตรเหมืองแร่, 3.ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปัญหานาร้าง

สำหรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา ในปี 2551 ขึ้นอยู่กับภาคการเกษตร ร้อยละ 40.38 ของมูลค่าผลผลิตรวมทั้งจังหวัด รองลงมา ได้แก่ การขายส่ง ขายปลีก และด้านการขนส่ง โดยมีอัตราส่วนร้อยละ 13.29 และ 8.31 ตามลำดับ พืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของจังหวัด คือ ยางพารา มีพื้นที่เพาะปลูก คิดเป็นร้อยละ 74 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดยะลา มีมูลค่าเท่ากับ 42,239 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.63 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ โดยมีมูลค่าภาคเกษตรเท่ากับ 21,026 ล้านบาท

ผลผลิตที่สำคัญมาจากพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ยางพารา ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนในจังหวัด และจากสภาพพื้นที่รวมทั้งอากาศ ที่เหมาะสม การทำสวนผลไม้จึงมีมากรองลงมาจากยางพารา ซึ่งไม้ผลที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ทุเรียน ลองกอง และส้มโชกุน การผลิตโดยรวมขยายตัวร้อยละ 2.46 จากภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 5.64 และภาคนอกการเกษตร ที่ขยายตัว ร้อยละ 0.41 จากสาขาอุตสาหกรรม การขายส่ง ขายปลีก การขนส่ง และตัวกลางทางการเงิน

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจังหวัดยะลา ในปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจจังหวัดยะลา จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรยังคงมีปริมาณออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยกำลังก้าวพ้นช่วงตกต่ำ หลายประเทศเริ่มฟื้นตัว มีการลงทุนสั่งสินค้าเข้าจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์จากยางพารา ที่สามารถส่งเป็นสินค้าออกไปยังต่างประเทศคู่ค้าเดิมได้เช่นที่ผ่านมา ราคายางพาราเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อภาคการค้าส่ง ค้าปลีก การอุปโภคบริโภค ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีการเพิ่มกำลังการผลิตตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญควรได้รับการส่งเสริม และ สนับสนุน คือ ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา

นายวิทวัส บุญญสถิต ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่ขณะนี้ก็คือ ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ที่ต้องออกหน่วยในพื้นที่ เช่นเจ้าหน้าที่สงเคราะห์การทำสวนยาง และด้านการเกษตรต่างๆ ห่างปัญหาสงบลง หรือลดน้อยลงแล้ว การดำเนินงานด้านต่างๆ จะดีขึ้นตามลำดับ



กำลังโหลดความคิดเห็น