xs
xsm
sm
md
lg

ชายฝั่งทะเลไทยวิกฤตไม่สิ้น 5 ปี “หาดสมิหลา” เหลือแค่ชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพสวนมะพร้าวใน อ.ปากพนังที่กลายเป็นเวิ้งทะเล และกำลังกัดเซาะเข้ามาถึงตัวบ้าน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชายหาดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จ.นครศรีธรรมราช-สงขลา ยังถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านปากพนังเดือดร้อนหนักหลังคลื่นไล่ถึงหลังบ้าน แต่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยสำรอง ด้านสงขลาก็วิกฤตไม่น้อยคาดหาดสมิหลาจะถูกกัดเซาะจนสิ้นชื่อภายใน 5 ปี ชี้เพราะมีการปลูกสร้างลงทะเลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และใช้วิธีแก้ไขแบบถมทะเลไปเรื่อยๆ ด้านเทศบาลนครสงขลาเตรียมทำเขื่อนกันคลื่นมูลค่า 50 ล้านบาทซ้ำ

ปัญหาการพังทลายของชายหาดกลายเป็นภัยธรรมชาติสำคัญที่สร้างความวิตกให้แก่จังหวัดแถบอ่าวไทย โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราช-สงขลา ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี กระทบต่อชาวบ้าน และบางแห่งทำให้ทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวต้องสูญเสียไป ตลอดจนต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหา ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในจุดอื่นตามมาไม่จบสิ้น

 11 ปี สูญเงินกู้ชายหาด “สมิหลา” 73 ล.

ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นที่แหลมสมิหลา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกบ้านของ จ.สงขลาที่มีชายหาดสีขาวตลอดแนว 4,300 เมตร ปัจจุบันถูกคลื่นกัดเซาะเป็นแนวยาว นับตั้งแต่ห้วงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548- 26 ธันวาคม 2548 ความรุนแรงของคลื่น ทำให้ชายหาดตลอดความยาว 2,500 เมตร ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด จนแนวต้นสน ซึ่งกั้นกลางระหว่างหาดและถนนถูกเกลียวคลื่นถาโถมซัดล้มจำนวนมาก บางจุดถูกทำลายพื้นผิวจราจรได้รับความเสียหาย ทำให้เทศบาลนครสงขลาต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหาหินมาทิ้ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชั่วคราว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2541-2552สูญเสียความกว้างของชายหาดประมาณ 9.4 เมตร เทศบาลนครสงขลาได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี โดยการวางถุงทรายไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ถุง งบประมาณไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการทุ่มงบป้องกันและแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ เพื่อยื้อสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม

เริ่มต้นจากทำเขื่อนหินทิ้งรูปตัวที ปี 2541 ยาวประมาณ 175 เมตร ใช้งบ 6 ล้านบาท กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง ปี 2542 ยาวประมาณ 200 เมตร งบ 1.2 ล้านบาท เขื่อนหิน Gabion ปี 2549 ยาวรวม 400 เมตร งบ 3.3 ล้านบาท และเขื่อนกระสอบทรายใยสังเคราะห์ โดยได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการ ปี 2551 ยาวประมาณ 250 เมตร งบ 8.1 ล้านบาท และปี 2552 งบ 46 ล้านบาท เป็นเงินประมาณ 73.6 ล้านบาท

ทุ่มอีก 50 ล.สร้างเขื่อนหินกันคลื่น

นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา เปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่าหาดสมิหลาจะหายไปภายใน 5 ปี เพราะจะถูกคลื่นกัดเซาะพัดพาทรายไปอยู่ที่อื่นจนหมด แต่เวลาอาจจะไม่สำคัญเท่ากับการหายไปของหาดสมิหลา เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนสงขลา และบางจุดที่มีการกัดเซาะนั้นยอมรับว่ามีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาภายหลังที่อาจจะล่วงล้ำแนวทะเล ดังเช่นบริเวณชายหาดชลาทัศน์ที่มีการก่อสร้างแนวถนนขึ้นภายหลัง หรือการเข้ามาของชุมชนเก้าเส้ง

ในรอบหลายปีภาครัฐจึงต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อปกป้องกว่า 70 ล้านบาท จึงมีการพูดคุยกันถึงทางเลือกว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะปล่อยให้จุดที่กัดเซาะให้เป็นทะเล และหาที่ใหม่มาทดแทน เพราะในอนาคตยังต้องใช้งบประมาณต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชายหาดเอาไว้

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะราชการเท่านั้นที่จะมาร่วมคิด ทว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเป็นบทหนึ่งที่จะทดสอบสังคม พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประเด็นล่อแหลมให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น ด้วยที่ผ่านมาชาวบ้านเองก็เรียกร้องให้มีการเอาหินมาสร้างเขื่อนกันคลื่น แต่บางแห่งก็ใช้กระบวนการทางศาลแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครสงขลาเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งกรณีเร่งด่วน หาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ และป้องกันพื้นที่ป่าสนประมาณ 75 ไร่ ตลอดจนไม่ให้ผิวจราจรซึ่งอยู่ใกล้แนวชายหาดชำรุด จากกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2553-2554 จำนวน 50 ล้านบาท ตั้งแต่บริเวณชายหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ต่อจากโครงการเดิมของกรมโยธาธิการจังหวัดสงขลา ขึ้นไปทางทิศเหนือถึงบริเวณวงเวียนลานอ่านหนังสือหลังโรงแรมบีพี สมิหลา ระยะทาง 2,500 เมตร

การสร้างเขื่อนหิน Gabion จะปรับปรุงจากแบบก่อสร้างเดิมที่มีขึ้นแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันแรงกระแทกจากน้ำทะเลที่มากัดเซาะชายฝั่ง และยังคงสภาพภูมิทัศน์หาดทรายให้ดูเหมือนไม่มีสิ่งก่อสร้าง ตัวเขื่อนกว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร และกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร อยู่ใต้ระดับผิวดินบริเวณชายหาดประมาณ 0.50 เมตร (เทียบระดับพื้นผิวดินบริเวณป่าสน) และมีหินทิ้งหน้าเขื่อนกว้าง 3 เมตรที่ระดับความลึก 2 เมตร สูง 0.50 เมตร พร้อมแผ่นจีโอเทคไทร์กันทรายไหลกั้นระหว่างตัวเขื่อนหิน นอกจากนี้จะมีการตกแต่งหาดทรายและชายหาด ตลอดจนส่วนที่ถูกกัดเซาะให้คืนสู่สภาพเดิม

อัดรัฐยิ่งพัฒนา-ยิ่งแก้ หาดยิ่งพัง


นายล้วน โรสิกะ ชาวประมงชายฝั่ง อ.เมือง สงขลา เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกสงขลา นอกจากจะปิดทางเข้าของของน้ำสู่ทะเลสาบสงขลาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสมดุลของกระแสน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนเกิดกัดเซาะชายหาดแก้วประมาณ 80 ไร่ต้องหมดไป ซึ่งในขณะนั้นชาวบ้านไม่รู้เท่าทันถึงยังไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผู้ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มนายทุน นักเดินเรือเท่านั้น ยิ่งเมื่อมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณท่าเรือยิ่งขยายการกัดเซาะไปยังจุดอื่นๆ

แม้ว่าสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลาจะเคยยื่นหนังสือกรณีดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องชายหาดและรักษาทะเลสาบสงขลาให้คืนสู่ธรรมชาติ แต่ก็ทำได้เพียงส่งหนังสือให้รื้อเขื่อนกันคลื่นตัวนอกออก ฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาเป็นดังเดิม และตั้งคณะกรรมการติดตามผล แต่หากจะให้เกิดผลในทางปฏิบัติแล้วจะต้องมีการฟ้องศาล

ด้าน นายธนูเดช แพรกทอง คณะทำงานองค์กรชุมชน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดระหว่าง อ.ปากพนัง-หัวไทร เริ่มตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา เพราะมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองที่ลงสู่ทะเล ทำให้สมดุลของธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ซึ่งทวีความรุนแรงในห้วงปี 2548 เป็นต้นมา หลังจากที่มีการสร้างตัวรอดักทรายไม่ให้เข้าสู่คลองระบายน้ำท่วม ทำให้ชายหาดทางแนวทิศเหนือถูกกัดเซาะรุนแรงจนรุกล้ำแผ่นดิน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง และระบบสาธารณูปโภคให้ได้รับความเสียหาย

เริ่มจากกรมชลประทานสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นความยาว 100 เมตร ปากคลองพังกาด ทำให้ทรายด้านทิศเหนือของตัวเขื่อนพังทลายลึกกว่า 40 เมตร ต่อเนื่องประมาณ 5 กิโลเมตร การสร้างเขื่อนรูปตัวทีของกรมโยธาธิการระยะทางประมาณ 5 เมตร ตั้งแต่บ้านบ่อคณที-บ้านเกาะฝ้าย อ.ปากพนัง นอกจากชายฝั่งจะถูกกัดเซาะรุนแรงจนถึงแหลมตะลุมพุกแล้ว ด้านหลังตัวเขื่อนยังถูกคลื่นซัดอย่างรุนแรงจนต้องสร้างกำแพงคอนกรีตตลอดแนวความยาวถนน

ต่อมากรมชลประทานสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นยาวประมาณ 800 เมตร ที่ปากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง อ.หัวไทร ส่งผลให้ชายหาดฝั่งบ้านหน้าศาลที่อยู่ห่าง 2 กิโลเมตรพังทลายลึกกว่า 40 เมตร และต้องสร้างกำแพงชายฝั่ง 2 กิโลเมตรด้วยงบ 72 ล้านบาทแต่สุดท้ายก็ต้องพังลง ปัจจุบันนี้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีใช้งบประมาณกว่า 2,300 ล้านก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นขนาดใหญ่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตรตลอดแนวชายฝั่งบ้านหน้าศาล-บ้านแหลมตะลุมพุกระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร

“แม้ชาวบ้านจะรู้สาเหตุของปัญหา แต่ไม่สามารถยับยั้งวิกฤตได้ และภาครัฐก็ยังคงแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่น, กำแพงชายฝั่ง บรรเทาปัญหาบริเวณที่วิกฤตและมีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่ แต่นั่นจะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในจุดอื่นแทน และรัฐต้องทุ่มงบประมาณในการแก้ไขไปเรื่อยๆ นั่นเอง”

ขณะที่ นางวิลาส กาญจันดี อายุ 48 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 9 ม.7 ต.ท่าพระยา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นสวนมะพร้าวจำนวน 3 ไร่ เพราะถูกคลื่นกัดเซาะเข้ามาจนถึงชายคาบ้าน ล่าสุดเมื่อช่วงมรสุมที่ผ่านมาคลื่นแรงสูงท่วมเท่าชั้นดาดฟ้าของบ้าน จนต้องเก็บกระเป๋าพร้อมสิ่งมีค่าออกจากบ้านไปอยู่บนถนน เพราะเกรงความไม่ปลอดภัย แต่ยังไม่สามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้เพราะไม่มีที่ดินที่อื่น และที่อาศัยนั้นก็ไม่มีเอกสารสิทธิทำให้เมื่อประสบภัยจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ปัจจุบันมีเพื่อนบ้านอีกประมาณ 50 หลังคาเรือนที่ยังคงอยู่แนวชายหาดที่ถูกกัดเซาะ เพราะไม่มีที่ไปเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น