xs
xsm
sm
md
lg

คนสะเดาร่วมตอกฝาโลงเทสโก้ โลตัส นายกเล็กยันพร้อมสู้ในศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนันต์ พฤกษานุศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นายกเล็กเมืองสะเดาประกาศตอกฝาโลงไม่ให้ตั้งสาขาเทสโก้ โลตัสในพื้นที่ ดักคอหากห้างยักษ์ข้ามชาติจะเล่นเล่ห์เลี่ยงกฎหมายควบคุมอาคาร โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างกับท้องถิ่นก็จะต่อสู้ในศาลปกครอง ด้านนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมหนุนโชวห่วยในพื้นที่เร่งปรับตัวรับสถานการณ์

วันนี้ (29 ธ.ค.) เทศบาลเมืองสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา และสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ FM 88.0 MHz (มอ.88) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีบริษัท เอก-ชัยดีสทริบิวชั่น จำกัด มีแผนจะเปิดสาขา ห้างเทสโก้ โลตัส ในเขตเทศบาลเมืองสะเดา แต่ปรากฏว่า ได้รับการคัดค้านจากพี่น้องประชาชนชาวสะเดาจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุ มอ.88 ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น.ด้วย

นายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา เปิดเผยว่า หากประชาชนไม่เห็นด้วยต่อการสร้างห้าง เทสโก้โลตัส เทศบาลฯก็จะยืนหยัดที่จะคัดค้านการลงทุนของห้างทุนยักษ์นี้ ถึงแม้กระบวนการยื่นแบบแปลนต่อกรมโยธาธิการจะถูกต้องก็ตาม ทั้งนี้การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อท้องถิ่น จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลักด้วย

“ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ผู้ค้าปลีกในเมืองสะเดาเราจะต้องรวมตัวกัน เพื่อพัฒนาร้านค้าของตนเอง ทั้งทางด้านความสะอาด ความชัดเจนของราคา โดยที่จะต้องติดป้ายราคาให้เห็นได้อย่างเด่นชัด เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานทางการค้า” นายอนันต์กล่าวและว่า

กรณีที่มีความพยายามในการอาศัยมาตรา ทวิ 39 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ระบุในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อหลบเลี่ยงการขออนุญาตของห้างยักษ์นั้น ทางเทศบาลจะไม่ยอมให้มีการนำมาตรานี้มาใช้โดยเด็ดขาด และหากนำมาใช้จริงก็จะต่อสู้ไปถึงกระบวนการศาลปกครองต่อไป

นางศิริกาญ พิมพงศ์ไพศาล อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า จากการที่ตนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับการขยายตัวห้างในรูปแบบดิสเคานต์สโตร์พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกเข้าไปใช้บริการในห้างโมเดิร์นเทรดมาจาก 1.ด้านราคาที่ถูกกว่า 2.ที่จอดรถเอื้ออำนวย 3.ความสะดวกสบาย เช่น อากาศเย็นสบายและมีร้านอาหารภายใน จึงมีความคิดเห็นว่าโชวห่วยท้องถิ่นควรที่จะมีการเร่งปรับปรุงทั้งทัศนวิสัยภายในร้านและความสะอาด โดยให้มีการปิดป้ายราคาสร้างความเป็นมาตรฐานให้เกิดขึ้น

“ถึงเวลาแล้วที่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยควรจะมีการพัฒนาหรือปรับปรุงทัศนวิสัยในร้านให้มีความสะอาด สะดวก สบาย ซึ่งจะส่งผลให้น่าเข้าไปใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยเทศบาลเมืองสะเดาจะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับด้วย รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เช่น การพัฒนาหน้าร้านไม่ให้รุกล้ำบริเวณถนน เป็นต้น”

นางศิริกาญ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านยังมีความเข้าใจผิดว่าการไปซื้อของที่ห้างโมเดิร์นเทรดจะทำให้ตนได้สินค้าในราคาถูกกว่า ซึ่งยังเป็นความเข้าใจที่ผิดอยู่มาก เพราะหากนำสินค้าที่จัดรายการซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง มาเปรียบเทียบกันกับสินค้าที่ไม่ได้จัดรายการ เราก็จะพบว่าแทบจะไม่ต่างกันเลยกับสินค้าที่ซื้อจากร้านโชวห่วยต่างๆ เลย

ส่วนนางยินดี ขำสุนทร แม่ค้าเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองสะเดา กล่าวว่า หากให้สร้างห้างเทสโก้ โลตัส ขึ้นมา จะทำให้เกิดการทำลายความสัมพันธ์ในแบบเครือญาติของคนในท้องถิ่น เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันร้านค้าและชาวบ้านอยู่กันในลักษณะแบ่งปันกันแบบพี่แบบน้อง สามารถมีระบบเอาสินค้าไปก่อนแล้วมาจ่ายให้ทีหลังได้ ซึ่งหาไม่ได้จากห้างยักษ์ใหญ่ เชื่อว่าหากมีการให้สร้างห้างเทสโก้ โลตัสความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ของชุมชนจะถูกทำลายไป

ด้านนางนาฏยา ดิสสุวรรณ ผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลีกใน อ.สะเดา กล่าวว่า ถ้าท้องถิ่นสะเดาปล่อยให้มีการตั้งห้างเทสโก้ โลตัสขึ้นมา สุดท้ายร้านค้าปลีกหรือโชวห่วยก็จะทยอยล้มหายตายจาก และหากเป็นเช่นนั้นจริง อนาคตห้างใหญ่ก็จะมีสิทธิ์ขาดในการกำหนดราคาแบบเบ็ดเสร็จ ถึงตอนนนั้นก็จะเป็นเรื่องยากที่จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ ได้อีก

นางชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวเสริมว่า จากความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ที่ในแต่ละปีบรรดาห้างยักษ์ต่างวางเป้าหมายที่จะขยายสาขาไปยังท้องถิ่นต่างๆ ให้ได้ตามเป้า ดังนั้น หากท้องถิ่นใดที่มีความคิดเห็นว่าไม่มีความต้องการให้ห้างยักษ์ไปเปิดสาขา ก็จำเป็นจะต้องแสดงความเข้มแข็ง และควรจะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยศึกษาคุณและโทษจากการตั้งห้างประเภทนี้แล้วนำเสนอต่อสังคม

นางชโลมยังเสนอแนะว่า ท้องถิ่นควรจะแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการนำระบบจัดโซนนิ่งร้านค้ามาใช้ในชุมชน เช่น ร้านค้าที่ขายสินค้าเกี่ยวกับอุปโภคบริโภค ของกิน หรือของมือสอง รวมไปถึงควรจะสนับสนุนให้มีการนำสินค้าชุมชนมาทำเป็นสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะเสนอมุมมองเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายนางศิริกาญเสนอว่า อยากให้ท้องถิ่นมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดสินค้าราคาพิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งมองว่าหากห้างค้าปลีกท้องถิ่นร่วมใจกันก็จะเป็นการกระตุ้นการขาย ที่ถือเป็นการทำการตลาดในเชิงรุกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น