ตรัง - ตัวแทนศิลปินหนังตะลุงตรังร้องเรียนสื่อมวลชน หลังทางจังหวัดไม่เห็นคุณค่าในการสืบสานประเพณีท้องถิ่น ในการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาและงานกาชาด ประจำปี 2552
วันนี้ (14 ธ.ค.) ณ ห้องประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง ตัวแทนสมาคมการแสดงพื้นบ้านชาวตรัง นำโดย นายณรงค์ จันทร์พุ่ม หรือหนังอาจารย์ณรงค์ ตลุงบัณฑิต นายหนังตะลุงชื่อดังของภาคใต้ ในฐานะบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2537 และบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาการใช้ภาษาถิ่นใต้ ประจำปี 2552 พร้อมด้วย หนังบุญรอบ ขุนแก้ว แชมป์หนังตะลุง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2537 หนังนงค์น้อย บางรัก, หนังมนูญ กำเนิดทอง และนายยิ่ง ภักดีสัตยากุล ที่ปรึกษาสมาคมการแสดงพื้นบ้านชาวตรัง ได้เดินทางร้องต่อสื่อมวลชนจังหวัดตรัง
หลังพบว่า ในการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานกาชาดจังหวัดตรัง หรืองานฉลองรัฐ ประจำปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 5-15 ธันวาคม 2552 นี้ ณ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง
ทางจังหวัดตรัง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยเฉพาะศิลปการแสดงพื้นบ้าน สาขาหนังตะลุง และมโนราห์ เนื่องจากในปีนี้พบว่าทางจังหวัดตรัง มีการว่าจ้างหนังนายหนังตะลุงมาทำการแสดงเพียงแค่ 2 คณะ และ 2 คืนเท่านั้น ส่วนมโนราห์มีการว่าจ้างมาทำการแสดงทุกคืน แต่ผูกขาดเพียงมโนราห์คณะเดียวเท่านั้น และมาจากต่างถิ่น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นคณะที่เป็นญาติ หรือสนิทชิดเชื้อกับผู้รับเหมางานจัดงานในปีนี้
อาจารย์ณรงค์ หรือนายหนังอาจารย์ณรงค์ กล่าวว่า งานเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นงานประจำปีของจังหวัดตรัง และถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมของการจัดงาน ที่จะต้องมีหนังตะลุงและมโนราห์ มาร่วมทำการแสดงให้ประชาชนและเยาวชนได้รับชมทุกคืน เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนที่ชาวตรังมีกับหนังตะลุง และมโนราห์ ต่อการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา และในการคัดเลือกคณะมาทำการแสดง จะต้องมีการเชิญเหล่าศิลปินการแสดงสาขานั้นๆ มาทำการปรึกษาหารือ และคัดเลือกคณะที่จะทำการแสดงกันเอง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 นี้ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น เพราะทางจังหวัดไม่ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของประชาชนชาวตรังที่มีอยู่อย่างยาวนาน และที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือ นอกจากกลัวว่าศิลปวัฒนธรรม หรือการแสดงพื้นบ้าน จะถูกเลือนหายไปในอนาคต เพราะขาดส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ในปีนี้ยังเกิดเรื่องประหลาดขึ้น คือ คณะหนังตะลุงที่มีเพียง 2 คืน 2 คณะ และมโนราห์ที่มาทำการแสดงทุกคืน แต่ผูกขาดเพียงคณะเดียวนั้น อีกทั้งยังเป็นญาติกับผู้รับเหมาจัดงาน ในอนาคตจึงเกรงว่าศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่จะถูกมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ จนขาดการส่งเสริมต่อไป และจะทำให้ศิลปการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านถูกเลือนหายไปในที่สุด
นายหนังอาจารย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า น่าเห็นใจความรู้สึกของศิลปินพื้นบ้าน รวมทั้งชาวตรังทั้งหมด ที่มีต่อการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์อย่างมีเสน่ห์ และสืบทอดอย่างยาวนาน แต่ขณะนี้ไปๆ มาๆ หนังตะลุง และมโนราห์ กลับถูกลดความสำคัญ จนเหมือนไม่มีความสำคัญต่อสังคมชาวตรัง สมกับที่ทุกคนกล่าวขานว่า เมืองตรัง ไม่หนังก็โนราห์ ไปแล้ว