xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสะพานมิตรภาพไทย-มาเลย์ ดันค้าชายแดนนราฯ ฉิว 100 ล.ต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย และดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยานเปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 (บูเก๊ะตา) เป็นสะพานมิตรภาพสานสัมพันธ์ผลักดันโลจิสติกส์ภายใต้กรอบ IMT-GT หอการค้านราธิวาสคาดสะพานมิตรภาพแห่งนี้จะเปิดทางการค้าสะดวก ทำเม็ดเงินสะพัดชายแดนกว่าร้อยล้านบาทต่อวัน

วันที่ 9 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย และ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียพร้อมด้วยภริยาร่วมเป็นสักขีพยานเปลี่ยนชื่อจากสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 ที่ชาวบ้านเรียกว่าสะพานบูเก๊ะตา หรือบาวน์ (แปลว่าแม่น้ำ) เป็นสะพานมิตรภาพ เพื่อสานสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนสองประเทศ หลังจากชาวบ้านในท้องถิ่นมีโอกาสได้ร่วมกันใช้สะพานบูเก๊ะตามาแล้วร่วม 2 ปี

สะพานบูเก๊ะตาเป็นสะพานคอนกรีต 2 ช่องจราจร ยาว 120 เมตร กว้าง 16.9 เมตร เชื่อมระหว่างบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือที่สำคัญ ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) และยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS)

นับเป็นการเปิดประตูสู่การค้าและการขนส่งที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการขนส่งสินค้าแบบโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเพิ่มพูนรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

รัฐบาลไทยและมาเลเซียได้ร่วมลงนามความตกลง เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม 2550 โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในโอกาสครบรอบ 50 ปี เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและมาเลเซีย ภายใต้งบประมาณ 90 ล้านบาท มีกรมทางหลวงของไทย และกรมโยธาธิการมาเลเซีย ออกทุนสร้างฝ่ายละกึ่งหนึ่ง โดยต่อยอดมาจากสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งแรก ที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางสุไหงโก-ลกกับเขตรันเตาปันยัง ซึ่งมีการใช้งานมาแล้วกว่า 30 ปี

ด้วยความมุ่งหวังว่าจะเชื่อมโยงให้ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้เดินทางไปมาสะดวก เสริมสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ระหว่าง จ.นราธิวาสกับรัฐกลันตัน ที่เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับเขตเศรษฐกิจตะวันออก (East Coast Economic region-ECER) ในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียด้วย

นางเฟาซียะห์ แวเต๊ะ ชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตั้งแต่มีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศ ชาวบ้านทั่วไปได้รับความสะดวกขึ้น ชาวบ้านได้มีอาชีพทำกินมากขึ้น เพราะชาวบ้านในละแวก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย โดยชาวไร่ชาวสวนสามารถนำสินค้าที่ตนเองข้ามไปขายยังต่างแดนได้อย่างสะดวกขึ้น ซึ่งในอดีต จะต้องอาศัยเส้นทางเรือเดินทางข้ามฝั่งเท่านั้น

ด้านนายกู้เกียรติ บูรพาพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในอดีตทั้งทางไทยและมาเลย์เองต่างก็เป็นบ้านพี่เมืองน้อง เอื้อหนุนทางด้านเศรษฐกิจซึ่งกันและกันตลอดมา ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานมิตรภาพในครั้งนี้ นอกจากจะมีความหมายที่ดีทั้งทางด้านนัยยะ ที่มุ่งเน้นก่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนเองก็ดี ยังส่งผลต่อความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการส่งสินค้าผ่านสะพานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหลักๆ เช่น การนำเข้าไม้แปรรูป การส่งออกยางพาราพืชเศรษฐกิจหลักของ 3 จังหวัดชายแดนใต้

อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการเปิดให้บริการสายการบินแบบเช่าเหมาลำ เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในช่วงเทศกาลได้เช่นกัน จากปัจจัยที่เกื้อหนุนนี้เองจะทำให้การค้าชายแดนมีเม็ดเงินสะพัดหลักร้อยล้านบาทต่อวัน

ส่วนนายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า เชื่อว่าสะพานมิตรภาพที่มาจากนโยบายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย จะทำช่วยให้กระชับความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างสัญญาณที่ดีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อลดความรุนแรงได้อีกทาง

ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งรัดประสานงานกับกรมทางหลวงในการสร้างถนน 4 เลนเชื่อมต่อระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก กับหมู่บ้านบูเก๊ะตา ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาการคมนาคมควบคู่กับด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับเร่งรัดการก่อสร้างด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองรองรับผู้คนสัญจรและระบบการขนส่ง (Logistic) ซึ่งคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2552 ขณะที่ฝั่งมาเลเซียนั้นได้มีการก่อสร้างด่านตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรติดกันกับสะพานมิตรภาพแล้วเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2553 นี้
ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส
กำลังโหลดความคิดเห็น