ยะลา - ปศุสัตว์จังหวัดยะลา เตรียมป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับวัว รองรับพิธีกรรมทางศาสนาของชาวมุสลิมในช่วงเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา ที่กำเนดเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้ อาจจะมีการนำวัวจากพื้นที่จังหวัดอื่น เพื่อรองรับต่อความต้องการของประชาชน
วันนี้ (13 พ.ย.) ในช่วงที่ใกล้จะถึงเทศกาลวันฮารีรายอฮัจยี หรือ วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา ของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น วัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อชาวมุสลิมทั่วโลก ที่จะต้องใช้ประกอบพิธีในช่วงเทศกาลวันฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา
สำหรับในปีนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีความต้องการที่จะต้องใช้วัวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดยะลา อาจจะต้องใช้วัวมากเป็นพิเศษ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดยะลา มีวัวไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงต้องนำวัวจากนอกพื้นที่ หรือวัวจากภาคกลาง นำมาเสริม เพื่อให้มีความเพียงพอต่อความต้องการที่จะต้องนำวัวมาใช้ในช่วงเทศกาลวันรายอฮัจยี หรือ วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา
นายเกษตร สุวรรณเพชร ปศุสัตว์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ในส่วนมาตรการในการตรวจสอบวัวที่จะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดยะลา ในช่วงวันฮารีรายอฮัจยี ที่ชาวไทยมุสลิมต้องทำกันทุกปีนั้น สิ่งที่ต้องตรวจสอบอันดับแรก คือ ปริมาณโคที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งถ้าหากมองดูแล้ว ปริมาณโคในพื้นที่จังหวัดยะลา มีประมาณกว่า 50,000 ตัว คงไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะจากในพื้นที่ภาคกลางตอนบน จังหวัดยะลา ในแต่ละปีมีการนำวัวเข้ามาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว
ประชาชนมีปริมาณความต้องการสูง ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะมีการมองว่ามีการใช้แพะ มาประกอบพิธีมาก ซึ่งในปัจจุบันในการทำกุบาน ต้องใช้สัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ก็คือ วัว ที่สามารถแบ่งส่วนออกไปได้มากกกว่า สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้ คือ ในเมื่อมีปริมาณสัตว์ เข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก คือ การนำโรคปากเท้าเปื่อย เข้ามาสู่พื้นที่ ถ้าไม่มีการป้องกันและแก้ไข เกรงว่าจะทำให้สัตว์ในพื้นที่ติดเชื้อโรคเหล่านั้นได้
ทั้งนี้ อยากฝากให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เฝ้าระวังในการป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ทาง ปศุสัตว์จังหวัดยะลา ยะลาเอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการออกหน่วยสัตว์แพทย์เคลื่อนที่ออกฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน โดยมีการบริการฟรี หากมีสัตว์แปลกปลอมเข้ามาในพื้นที่ และสงสัยว่าจะเป็นโรค ขอความร่วมมือให้ประชาชนแจ้งทางปศุสัตว์อำเภอในทุกอำเภอทราบ ทางปศุสัตว์ มีเจ้าหน้าที่และมีความพร้อมในการเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่
ส่วนการดูแลสัตว์เลี้ยงต่างๆ หลังเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นั้น ในส่วนของจังหวัดยะลามีสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 65,949 ตัว ซึ่งในขณะที่เกิดน้ำท่วมนั้นทางสำนักงานปศุสัตว์ได้สนับสนุนหญ้าแห้ง เพื่อให้ปะทังชีวิตของสัตว์ จำนวน 11,355 กิโลกรัม มีเกษตรกรรับบริการร้อยกว่าราย และในบางพื้นที่ก็ได้เข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์โดยเฉพาะแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อ่อนแอ
ในขณะเดียวกัน หลังจากน้ำลดแล้ว ก็ได้มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ ซึ่งพื้นที่ที่ค่อนข้างมีปัญหาคือ พื้นที่ของอำเภอรามัน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ ต.ตะโล๊ะหะลอ ต.ท่าธง ต.อาซ่อง ต.กายูบอเกาะ ต.เกะรอ และ ต.วังพญา ในส่วนของอำเภอเมืองยะลา คือ ต.ท่าสาป ต.หน้าถ้ำ ต.เปาะเส้ง ต.ตาเซะ ซึ่งทั้งนี้ ทางปศุสัตว์ก็ได้ออกหน่วยตรวจสุขภาพสัตว์เคลื่อนที่ เพื่อตรวจสุขภาพ ส่วนใหญ่จะพบว่า มีโคที่มีอาการกลีบเท้าเปื่อย กลีบเท้าเน่าเนื่องจากแช่น้ำเป็นเวลานาน แต่ก็เป็นเพียงโรคธรรมดาที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากนั้น ปศุสัตว์จังหวัด ได้สั่งการให้ปศุสัตว์อำเภอ ออกสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือให้กับเกษตรกร ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะต้องแจ้งให้กำนัน หรือแจ้งให้ปศุสัตว์ ทราบ เพราะจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ
สำหรับการช่วยเหลือจะเป็นในรูปของตัวเงินเท่านั้น ถ้าหากสัตว์ตายก็ต้องไปแจ้งความ ต้องมีหลักฐาน ภาพถ่าย หรือถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ต้องมีพยานบุคคลที่ชี้ชัดได้ว่า สัตว์ตายด้วยอุทกภัยจริง และจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะในช่วงที่ผ่านมาประชาชนบางส่วนมีการแอบอ้างว่าสัตว์เลี้ยงของตนเองตาย มาแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่เพื่อหวังเงินทดแทนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง