xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเกาะสาหร่ายปล่อยเต่าคืนทะเล หลังพบติดเครื่องมือประมงบ่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - ชาวบ้านเกาะสาหร่ายร่วมงานประเพณีปล่อยเต่าคืนสู่ทะเล เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ หลังพบปัญหาเต่าติดเครื่องมือประมงอยู่ปล่อยครั้ง พร้อมเป็นการนำร่องในการจัดประเพณีปล่อยเต่าคืนสู่ทะเลในทุกๆ ปี

วันนี้ (13 พ.ย.) ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และนักวิชาการ ร่วมกันปล่อยเต่าจำนวน 12 ตัวลงสู่ทะเลอันดามัน บริเวณ ม.6 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ภายใต้ประเพณีปล่อยเต่าคืนสู่ทะเลที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเต่าที่นำไปปล่อยเป็นเต่าตนุจำนวน 5 ตัว และเต่ากระ จำนวน 7 ตัว ซึ่งเป็นเต่าที่ชาวประมงได้จากการออกเรือหาปลาซึ่งเต่าจะติดมากับเครื่องมือประมง โดยชาวประมงได้นำมามอบให้กับบ่ออนุบาล และพักฟื้นเต่าทะเล บ้านยะระโตดนุ้ย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้งสิ้นที่มีการอนุบาลและปล่อยรวมจำนวน 82 ตัว

พร้อมกันนี้ นายอนุสร ตันโชติกุล ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองจังหวัดสตูล ได้เป็นประธานมอบเสื้อตอบแทนผู้ที่นำเต่ามามอบให้กับกลุ่มอนุบาลเต่าทะเล ซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกการรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมกล่าวกับชาวบ้านว่า ชาวบ้านบนเกาะมีทุนทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ให้ชาวบ้านร่วมกันรักษาทรัพยากรให้ยั่งยืนเพราะสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน

สำหรับประเพณีปล่อยเต่าคืนสู่ทะเล ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย จัดขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกชาวประมงให้อนุรักษ์เต่าทะเล และเป็นการฟื้นฟูพันธุ์เต่าทะเลไม่ให้สูญพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกและเป็นการนำร่องในการจัดประเพณีปล่อยเต่าคืนสู่ทะเลในทุกๆปี พร้อมกันนี้ยังเปิดอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน ชาวประมง และผู้นำท้องถิ่นในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดทะเลอย่าง เกาะยาว ต.ปูยู และตำบลตันหยงโป ได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธ์เต่าทะเลไว้

นายดีนัส หลีดลหมาน อายุ 32 ปี ชาวประมงในพื้นที่เกาะสาหร่าย กล่าวว่า ขณะนำเรือออกหากุ้งบริเวณบ้านตะโล๊ะน้ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาะสาหร่าย พบมีเต่าขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ติดอวนมาจึงนำมามอบให้กับกลุ่มอนุบาลเต่าทะเล นำไปอนุบาลรักษาเพราะเต่าเกิดบาดแผลจากเครื่องมือประมง และไม่คิดจะปล่อยเต่าคืนสู่ทะเล ในตอนนั้นเพราะกลัวเต่าจะไม่รอดและอาจตายได้ จึงนำเต่ากลับมามอบให้กับเจ้าหน้าที่บ่ออนุบาลและพักฟื้นเต่าทะเลรักษาซึ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เต่าทะเลที่มีแนวโน้มปริมาณลดลง

ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายแลน กล่าวว่า การเปลี่ยนในทรัพยากรที่มีมากขึ้นตามลำดับ โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเข้มแข็งในการอนุรักษ์ทรัพยากรอยู่แล้ว การเข้ามานี้เป็นเพียงการเข้ามาช่วยเสริมในเรื่ององค์ความรู้ และในปัจจุบันนี้ก็พยายามที่จะทำโครงการโดยเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชนมาใช้ในการติดตามตรวจสอบสถานภาพของทรัพยากรในพื้นที่เหล่านี้ว่ามีการเลี่ยนแปลงอย่างไร ผลที่ได้คือสามารถทราบก่อนล่วงหน้าก่อนที่ทรัพยากรธรรมชาติจะสูญหายไป เมื่อเริ่มมีแนวโน้มลดลงก็จะต้องมีการพัฒนาบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ เพื่อให้ทรัพยากรคงอยู่ต่อไป

ปัจจุบันนี้เรื่องของเต่าทะเลทั่วประเทศไทยหรือทั่วโลกมีสถิติการลดลงของการวางไข่ของเต่าทะเล เต่าทะเลที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีปริมาณลดลง แต่ทุกชุมชนพบมีปัญหาการติดเครื่องมือประมงโดยเฉพาะอวนลอย และบางแห่งก็ไม่มีการสนใจเท่าไร ในส่วนของชุมชนเกาะสาหร่ายแห่งนี้ก็มีการอนุรักษ์เต่าที่ติดเครื่องมือประมงก็จะนำกลับมารักษาหากพบบาดเจ็บและมีการปล่อยไป ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากเครื่องมือประมงอยู่บ้างแต่ว่าจำนวนที่รอดออกไปก็จะมีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะพบเห็นเต่าทะเลมีการออกมาวางไข่ในจำนวนที่มากขึ้น


เต่าทะเลค่อนข้างที่จะมีวงจรชีวิตอยู่ในระดับสูง การที่มีเต่าทะเลอยู่นี้เป็นการบ่งบอกถึงทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เพราะถ้าไม่มีเต่าทะเลเท่ากับว่าบริเวณแหล่งนั้นอาจไม่มีอาหารสำหรับเต่า เมื่อไม่มีอาหาร ไม่มีปลา หมายถึงทรัพยากรด้านการประมงก็ไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นเต่าทะเลเป็นตัวชี้วัดที่ดีในการชี้วัดสถานะภาพของทรัพยากร




กำลังโหลดความคิดเห็น