xs
xsm
sm
md
lg

ทัพเรือ-กรมทรัพย์ทะเลติดสัญญาณดาวเทียมพ่อเต่าตนุศึกษาวงจรชีวิตเต่าเลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อนุรักษ์เต่าทะเลเชิงรุก เฉลิมพระเกียรติ ต้องการหาคำตอบที่แท้จริงวงจรชีวิตเต่าเกิดธรรมชาติ กับเต่าเลี้ยงแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพ่อเต่าตนุวัยเจริญพันธุ์ นาม “เตยงาม 52” ติดตามศึกษาเส้นทางเต่าตนุเพศผู้ เพิ่มพ่อเต่าในทะเลสร้างสมดุลปล่อยเชื้อก่อนทะเลจะมีแต่เต่าเพศเมีย เพราะภาวะโลกร้อน

วันนี้ (21 ส.ค.) น.อ.มนตรี จึงมั่นคง ผู้อำนวยการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รับผิดชอบดูแลศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ร่วมกับ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงสถาบันวิจัยพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์ นักวิชาการประมง 8 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้ร่วมกันติดเครื่องมือสื่อสารส่งสัญญาณดาวเทียม หมายเลข GPS 27566 บนหลังเต่าตนุเพศผู้วัย 15 ปี หมายเลข ไมโครชิป 122925465A1 น้ำหนัก 57 กิโลกรัม ความยาว 87 เซนติเมตร และความกว้างของกระดอง 69 เซนติเมตร เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ สร้างความสมดุลของเพศให้กับเต่าตนุ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ เปิดเผยว่า เต่าชื่อ “เตยงาม 52” เป็นเต่าเพศผู้ตัวที่ 6 ในประเทศไทยที่ได้รับการติดตั้งตัวส่งสัญญาณดาวเทียม เพื่อร่วมกับกองทัพเรือ ติดตามวิถีชีวิตที่แท้จริงของเต่าตนุที่มีการเลี้ยงดูในบ่อเต่ามาตั้งแต่เกิด ว่ามีความแตกต่างกับวิถีชีวิตเต่าที่เกิดตามธรรมชาติมากน้อยเพียงใด และโดยเฉพาะในเรื่องของอัตราเสี่ยงในการดำรงชีวิต และที่สำคัญตัวนี้จะเดินทางไปหากินในต่างประเทศเหมือนเต่าตัวอื่นหรือไม่ จะได้เก็บไว้เป็นข้อมูลในการอนุรักษ์เต่าทะเลให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งพัฒนาให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องของภาวะโลกร้อน ที่อาจจะทำให้เต่าทะเลสูญพันธุ์ได้ เพราะอุณหภูมิจะเป็นกำหนดเพศ อีกประการหนึ่งก็คือเพื่อให้เกิดความสมดุลในเรื่องของการเจริญพันธุ์ เพราะเต่าเพศเมียต้องการน้ำเชื้อจากเพศผู้ 3-5 ตัว ก่อนขึ้นวางไข่บนชายหาด เกาะแก่งต่างๆ

ผู้อำนวยการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กล่าวว่า ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ได้ให้รับการสนับสนุนเครื่องส่งสัญญาณที่ได้รับมาจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเช่าสัญญาณวันละ 15 ดอลลาร์ การติดตั้งตัวส่งสัญญาณส่งดาวเทียมบนหลังเต่าตนุ เพื่อเตรียมการไว้ให้ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ กรมประมง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และบริษัท ICC ปล่อยลงสู่ทะเล ในกิจกรรมร้อยรวมดวงใจ เทิดไท้องค์ราชินี “คืนชีวิตสู่ท้องทะเล” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกับการปล่อยลูกเต่าอีก 778 ตัว ณ ชายหาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร

พล.ร.ต.จักรชัย ภู่เจริญยศ ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับเต่าทะเลได้ ถ้าไข่เต่าที่ถูกเพาะที่อุณหภูมิสูงลูกเต่าจะเกิดเป็นเพศเมียถ้าอุณหภูมิต่ำจะเกิดเป็นเพศผู้ จึงต้องปล่อยเต่าเพศผู้ไปผสมพันธุ์เพื่อสร้างความสมดุลของเต่าในทะเล ตลอดจนการศึกษา ติดตามวงจรชีวิตเต่าที่เลี้ยงไว้ตั้งแต่เกิด จะสามารถปรับสภาพดำรงชีวิตตามธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด และเส้นทางของเต่าจะแตกต่างกันหรือไม่ จะได้มีคำตอบที่แท้จริงให้กับประชาชน การนำเต่าตนุเพศผู้อายุ 15 ปี ที่มีความพร้อมในการผสมพันธุ์ปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นจะเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ของเต่าตนุในธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการลดผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ทร.ได้ปฏิบัติเช่นนี้ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะการปล่อยเต่าเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นผู้ริเริ่มในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของประเทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น