ระนอง- สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับกรมป่าไม้ ให้ความรู้ชาวชุมชนชายฝั่งทะเล ร่วมสร้างความมั่นคงของระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา
วันนี้ (15 ต.ค.) นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง ร่วมสร้างความมั่นคงของระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา ที่สถานีวิจัย เพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนผลกระทบ และบทเรียนจากภัยพิบัติบริเวณชายฝั่ง เรียนรู้ประสบการณ์การลดผลกระทบ และการปรับตัวของชุมชนชายฝั่ง กรณีสึนามิเมื่อปี 2547 และเพื่อสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือ ตลอดจนกำหนดแนวทางในการดำเนินงานฟื้นฟูป่าไม้ ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งในระยะต่อไป
โดยมีประชาชนในชุมชนชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอนุรักษ์จาก จ.ระนองและพังงา เข้าร่วมสัมมนา ระดมความคิดเห็นจำนวน 100 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ หรือ ITTO มีระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่กันยายน 2552-สิงหาคม 2554
นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ภารกิจของกรมใดกรมหนึ่งอีกต่อไป และไม่ควรแยกส่วนกันจัดการ นอกจากนี้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติควรให้ชุมชนมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของชุมชน การฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณชายฝั่งทะเล
ซึ่งเคยประสบภัยพิบัติรุนแรงมาแล้วจำเป็นต้องรอบคอบมากขึ้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์ทั้งด้านการเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และเป็นเกราะป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวด้วยว่า การป้องกันรักษาป่าที่ดีที่สุด คือ การให้ประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส แหล่งข่าวให้เจ้าหน้าที่ เพราะกรมป่าไม้มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่ละหน่วยมีเจ้าหน้าประมาณ 12-14 คน แต่ต้องดูแลพื้นที่ป่าถึง 200,000 ไร่ ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง