xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลยันปิดท่าเรือกันตังไม่กระทบส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - นายกเทศบาลเมืองกันตัง จังหวัดตรัง ชี้แจงความจำเป็นต้องสั่งปิดท่าเทียบเรือกันตัง เพราะผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไขอย่างรุนแรง พร้อมยืนยันการส่งออกยังทำได้ตามปกติ


วันนี้ (11 ต.ค.) จากกรณีที่เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้สั่งให้ทำการปิดท่าเทียบเรือกันตัง แห่งที่ 2 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใช้สำหรับการส่งออกสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังปลายทางท่าเทียบเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย และอีกหลายๆ ประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกของจังหวัดตรังอย่างรุนแรง เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างรอการส่งออกสัปดาห์ละหลายร้อยตู้ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ขณะที่จังหวัดตรังก็มีรายได้จากการส่งออกและนำเข้าสินค้า ผ่านท่าเทียบเรือกันตังปีละหลายหมื่นล้านบาทด้วยนั้น

นายสมเกียรติ ภาษีทวีเกียรติ นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง ได้ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวถึงกรณีนี้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ที่ผ่านมาเทศบาลได้พยายามทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ คือ บริษัท กันตังคอนเทนเนอร์ เดโพ จำกัด มาโดยตลอด เพราะได้ใช้ท่าเทียบเรือกันตังจนเกิดความเสียหายมีมูลค่าสูงมาก และยังฝ่าฝืนข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีด้วย แม้เทศบาลจะแจ้งให้แก้ไขแล้ว แต่ได้รับการเพิกเฉยตลอดมา ซึ่งหากปล่อยให้ดำเนินการต่อไป ท่าเทียบเรือจะเสียหายไม่สามารถใช้งานได้อีก รวมทั้งอาจเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เทศบาลจึงได้สั่งปิดท่าเทียบเรือ แห่งที่ 2 เพื่อตรวจสอบการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าเทียบเรือกันตัง แห่งที่ 3 ขณะนี้ยังเปิดให้บริการตามปกติ และไม่ได้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ จึงยังคงสามารถรองรับสินค้าที่เคยส่งผ่านท่าเทียบเรือที่สั่งปิดได้อย่างเพียงพอแน่นอน ส่วนข้ออ้างที่ว่ากระทบต่อการส่ งออกเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะราย โดยไม่มีการดูข้อมูลปริมาณสินค้าเข้าออกที่ด่านศุลกากรกันตัง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว สินค้าที่ส่งออกยังท่าเทียบเรือกันตัง แห่งที่ 3 ขณะนี้มียอดเฉลี่ยเดือนละ 800 ตู้ และยังรองรับได้อีกประมาณ 1,200 ตู้ รวม 2,000 ตู้ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ชอบร้องเรียน ก็มีสินค้าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 800 ตู้เช่นกัน ทั้งนี้ เทศบาลเมืองกันตังกำลังเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่าเทียบเรืออย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขและเร่งเปิดใช้ท่าเทียบเรือบริการผู้ส่งออกต่อไป

นายสุธี สุขสง หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาตรัง กล่าวว่า ปัญหาท่าเทียบเรือกันตัง แห่งที่ 2 ที่เทศบาลเมืองกันตังสั่งปิดนั้น เนื่องจากพบว่าตั้งแต่ปี 2550 ผู้ประกอบการคือ บริษัท กันตังคอนเทนเนอร์ เดโพ ได้ดำเนินการเจาะพื้นท่าเทียบเรือจนพังเสียหายกินบริเวณกว้างมาก ซึ่งสาเหตุมาจากการที่บริษัทใช้เครนขนาดใหญ่ ชนิดล้อเหล็ก และมีน้ำหนักมากเกินกว่าโครงสร้างท่าเทียบเรือจะรับได้มาใช้งาน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างท่าเทียบเรือทุกประเภทโดยปกติทั่วไปนั้น จะมีการกำหนดมาตรฐานของเครื่องจักรกลที่นำมาใช้งาน แต่หากใช้น้ำหนักเกินพิกัดก็จะส่งผลให้ท่าเทียบเรือพังเสียหายอย่างที่ประสบมา

ทั้งนี้ ต่อมากรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรรมลงมาดูพื้นที่ พร้อมมีความเห็นว่าจะต้องรื้อพื้นใหม่ และซ่อมแซมใหม่ทั้งหมดให้ได้มาตรฐาน โดยเทศบาลเมืองกันตัง ซึ่งเป็นผู้เช่าต่อมาจากกรมธนารักษ์ได้ตกลงกับบริษัท กันตังคอนเทนเนอร์ เดโพ ว่า ทางบริษัทจะต้องเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมเอง และในขณะที่กำลังดำเนินการซ่อมแซมนั้น เทศบาลจะส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรเข้าไปดูแลร่วมด้วย แต่กลับปรากฎว่าทางบริษัทไม่ยินยอม ขณะเดียวกันก็มีหนังสือจากทางจังหวัดตรังส่งไปถึงเทศบาล เพื่อสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการซ่อมแซมท่าเทียบเรือดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อซ่อมแซมแล้วเสร็จ และเมื่อวิศวกรจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เข้าไปตรวจสอบก็พบว่า การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามแบบที่ทางกรมกำหนด ประกอบกับพบว่าทางบริษัทก็ยังคงใช้เครนตัวเดิมในการทำงาน ทางกรมจึงเห็นว่าท่าเทียบเรื อจะต้องพังเสียหายในอนาคต และเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งคนงานของทางบริษัทด้วย จึงไม่รับรองมาตรฐานให้ แต่ทางบริษัทก็ยังคงดึงดันจะนำเครนตัวดังกล่าวมาใช้งานต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่สามารถหาวิศวกรมารับรองมาตรฐานได้

ดังนั้น เทศบาลในฐานะผู้เช่าจึงต้องสั่งปิดท่าเทียบเรือกันตัง แห่งที่ 2 และเร่งดำเนินการแก้ไข ส่วนท่าเทียบเรือ แห่งที่ 3 ที่ยังเปิดบริการอยู่ขณะนี้ถือว่า มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกได้ทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น