xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ฟันธง “หวัดใหญ่ 2009” ระบาดระลอก 2 แน่! ชี้เด็กต่ำ10-วัยทำงานเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ฟันธงกลาง พ.ย.นี้ หวัดใหญ่ 2009 กลับมาระบาดระลอก 2 ในไทย ชี้เด็กเล็กต่ำกว่า 10 ปี วัยทำงานเป็นกลุ่มเสี่ยง เชื่อระบาดรุนแรงไม่มากกว่ารอบแรก เผย 4 เดือน คาดมีคนไทยติดเชื้อแล้วกว่า 6 ล้านคน คาดระลอก 2 ป่วยอีก 15 ล้านคน ขณะที่ “พล.ต.สนั่น” พอใจผลการควบคุมโรคของ สธ. พร้อมสั่งซื้อวัคซีนจากนอกเพิ่มอีก 3 ล้านโดส


วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 5/2552 โดยมีนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้บริหาร สธ.และตัวแทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อทบทวนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

พล.ต.สนั่น กล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจากการเฝ้าระวังตั้งแต่ 28 เมษายน 2552 - 24 ตุลาคม 2552 พบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันได้ขยายตัวไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเกือบทุกอำเภอ คาดมีคนไทยติดเชื้อและมีภูมิต้านทานโรคแล้วประมาณ 6 ล้านคน โดยพบผู้เสียชีวิต 182 ราย เป็นชาย 90 ราย หญิง 92 ราย พบมากในอายุ 31-40 ปี การเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง โดยสัดส่วนของผู้เสียชีวิตของไทยคิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก ทั้งนี้ จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น.ที่รัฐสภา

“ผลการทำงานของ สธ.ในการระบาดระลอกแรก ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ไทยมีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตน้อย แต่การระบาระลอกใหม่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น และได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคนี้ เพิ่มอีก 3 ล้านโดส รวมทั้งสิ้นเป็น 5 ล้านโดสด้วย” พล.ต.สนั่น กล่าว

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของนักระบาดวิทยาเชื่อว่าการระบาดระลอก 2 ที่จะมาถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดในครั้งแรก เนื่องจากปัจจัยแรก คือ การที่มนุษย์ได้รู้จักลักษณะ อาการ การติดต่อของโรคดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งมีประสบการณ์ในการรับมือโรคดังกล่าว ทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งมาแล้ว ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงกับมาตรการที่ใช้รับมือ และเชื่อว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในระลอก 2 จะน้อยกว่าระลอกแรก

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อสรุปทีสำคัญคือ พบว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา มีอัตราการป่วยไม่แตกต่างกัน คือ คือ ร้อยละ 90 มีอาการน้อย หายได้เอง และอีกร้อยละ 10 จะมีอาการหนัก โดยในกลุ่มที่มีอาการหนัก จะมีอาการหนักประมาณ 3-5 วันหลังจากที่ป่วย โดยพบผลการศึกษาวิจัยว่า หากผู้ป่วยได้รับยาเร็วจะลดอัตราการตายลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกอยู่ในภาวะการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการระบาดระลอก 2 อย่างเต็มที่

“ผมได้สอบถามไปยังประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายไทย คือประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย พบว่า สถานการณ์การระบาดเริ่มสงบแต่คาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์จะเกิดการะบาดระลอก 2 แน่นอน จึงมีการเตรียมตัวเช่นกัน โดยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อในการระบาดระลอก 2 มีสัญญาณว่าการระบาดเข้าสู่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมากขึ้น และคนทำงาน ต่างจากการระบาดระลอก 1 ที่กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กอายุระหว่าง 10-16 ปี และกลุ่มวัยรุ่น” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการดูแลเด็กเล็กที่คาดว่าอาจจะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อเพิ่มในการระบาดระลอก 2 นั้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้สั่งซื้อยาโอเซลทามิเวียร์แบบน้ำ ซึ่งมีราคาแพงขวดละ 1,000 กว่าบาทและยังไม่สามารถแบ่งได้ จึงมีการทดลองโดยการใช้ยาขนาดเล็กที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดทำสำหรับเด็กมาผสมในน้ำเชื่อม เมื่อทดสอบพบว่า ตัวยามีความเสถียรสูงและไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก สามารถแช่เก็บในตู้เย็นได้เป็น 10 วัน ซึ่งมีการเผยแพร่ลงเว็บไซต์และสอบถามไปยังจังหวัดต่างๆ ก็พบว่าเภสัชกรสามารถผสมโดยวิธีดังกล่าวได้อย่างดี จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมาก” นพ.ทวี กล่าว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประมาณการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่มีการระบาดในเดือนมิถุนายน-กันยายน ที่ผ่านมา เป็นเวลา 4 เดือนคาดว่ามีคนไทยติดเชื้อแล้วกว่า 6 ล้านคนจากประชากรทั่วประเทศกว่า 63 ล้านคน คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 10 เท่านั้น ทั้งนี้ หากทั่วโลกมีการติดเชื้อประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกจะถึงระดับที่หยุดการแพร่ระบาด ซึ่งในไทยประมาณ 21 ล้านคน แต่ขณะนี้มี 6 ล้านคน ยังเหลืออีก 15 ล้านคนที่สามารถป่วยได้อีกในช่วงการระบาดระลอก 2 นี้

ด้าน นายวิทยากล่าว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวน 3 มาตรการหลักที่ใช้รับมือหลังโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดตั้งแต่เมษายน-ตุลาคม 2552 มาตรการแรกได้แก่ การเฝ้าระวังโรคทั้งในและนอกประเทศ โดยมีข้อสรุป ให้ยกเลิกการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมสแกน(Thermoscan) ซึ่งใช้เฝ้าระวังโรคภายในประเทศและด่านสุวรรณภูมิ เนื่องจากเครื่องมือไม่สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมาตรวจผู้เดินทางทั้งหมด 6 ล้านคน แต่พบผู้ป่วยยืนยันเพียง 1 ราย ดังนั้นจึงจะใช้วิธีผลิตสื่อให้ความรู้กับผู้เดินทางแจกที่ด่านสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติแทน

นายวิทยา กล่าวว่า 2.การดูแลรักษาพยาบาล โรงพยาบาลทุกระดับเตรียมความพร้อม เช่น วัสดุ อุปกรณ์ ยา ครุภัณฑ์ การตรวจวินิจฉัยโรคที่รุนแรง การระบาดและการเสียชีวิต การจัดระบบโซนนิ่ง(Zoning) กำหนดพื้นที่รับผิดชอบ และการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรักษาต่อ โดยมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา และ3. มาตรการทางสังคม ซึ่งจะช่วยในการป้องกันควบคุมโรคได้ดีขึ้น ให้สธ. ทบทวนคำแนะนำในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการของจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและปศุสัตว์ เพื่อผลักดันให้ทุกหน่วยงานในแต่ละจังหวัดจัดทำแผนบูรณาการ

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการจัดสรรวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเชื้อตาย ที่ไทยสั่งซื้อจากบริษัทยาในประเทศฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านโดสและจะส่งถึงไทย 1 ล้านโดสในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการเฉลี่ยให้กับคนใน 5 กลุ่ม คือ 1.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2.หญิงตั้งครรภ์ 3.ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกิน 100 กิโลกรัม 4.คนทั่วไปที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน และเกินกว่า 64ปีและมีโรคประจำตัว และ5.ผู้พิการทางสมอง ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้และเด็กเล็กในสถานเลี้ยงเด็ก แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นและประชาชนกลุ่มอื่นควรที่จะได้รับวัคซีนด้วย ก็พร้อมที่จะสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 3 ล้านโดส ส่วนงบประมาณต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้งบฯจากส่วนใด อาจจะขอสนับสนุนงบฯจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ระบุว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) รายจังหวัด ในประเทศไทย พบว่า 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสะสมต่อประชากรแสนคนมากที่สุด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ 131.41 ต่อแสนประชากร จ.เชียงราย 102.01 จ.สงขลา 93.58 จ.พะเยา 93.36 จ.ภูเก็ต 89.29 จ.นครนายก 82.95 จ.นนทบุรี 73.15 กทม. 71.25 จ.ตรัง 67.33 และจ.ลำปาง 65.66
กำลังโหลดความคิดเห็น