xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ตรังหวั่นอาการคนไข้ทรุดเพราะเครื่องมือแพทย์ไม่พร้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง – เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง ต้องทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในขณะที่เครื่องตรวจเชื้อก็เสียไปแล้ว 1 ตัวหวั่นอาการผู้ป่วยอาจทรุดลง

วันนี้ (30 ก.ย.) นางสาวธาริยา เสาวรัญ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในจังหวัดตรัง นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา ทำให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง เริ่มมีงานตรวจตัวอย่างเชื้อผู้ป่วย ที่ต้องสงสัยป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันด้วย ทำให้ต้องมีการจัดเวรเจ้าหน้าที่เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตรวจสอบตัวอย่างเชื้อตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง ถือเป็นหน่วยงานเดียว ที่ต้องตรวจสอบยืนยันการติดเชื้อของผู้ป่วยต้องสงสัย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดตรัง รวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชน ในจังหวัดตรัง และยังรับตัวอย่างเชื้อผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จากโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงด้วย
 
เช่น จังหวัดกระบี่ จังหวัดสตูล และจังหวัดนครศรีธรรมราช บางส่วน ทำให้ในแต่ละวันต้องตรวจตัวอย่างเชื้อไม่ต่ำกว่า 30 ราย โดยก่อนหน้านี้ผลการตรวจยืนยันจะสามารถทราบได้ภายใน 7 ชั่วโมง แต่ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ต้องเลื่อนเวลาเพิ่มขึ้นเป็นภายใน 24 ชั่วโมง

เนื่องจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง มีเครื่องตรวจสอบยืนยันเชื้อเพียง 2 เครื่อง และเครื่องได้พังไปแล้ว 1 เครื่อง เพราะรับสภาพการทำงานในแต่ละวันไม่ไหว ทำให้ทางศูนย์ฯ ต้องทำเรื่องขอยืมมาจากศูนย์ฯ อื่นมาให้ครบ 2 เครื่องดังเดิม เพื่อทำการตรวจสอบตัวอย่างเชื้อให้ทันตามเวลา เพราะต้องรีบแจ้งผลการตรวจให้โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวทราบ เพื่อทำการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด และหากปริมาณตัวอย่างเชื้อเพิ่มมากขึ้นเกินกว่า 50 รายต่อวัน ถือว่าการระบาดของโรคเริ่มรุนแรงแล้ว แต่ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดตรังยังไม่เข้าขั้นเป็นการระบาดของเชื้ออย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม นอกจากศูนย์ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง ต้องตรวจยืนยันเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว ยังต้องมีการตรวจยืนยันเชื้อโรคปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ด้วย ทำให้ในแต่ละวันจะต้องตรวจยืนยันเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงต้องจัดเวรของเจ้าหน้าที่เป็นวันละ 2 รอบ เพื่อรองรับตัวอย่างเชื้อของผู้ป่วย ส่งผลให้บางรายเริ่มมีอาการอ่อนเพลียจากการทำงานหนัก เพราะจำนวนของเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งหากมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ก็จะทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น