xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ปศุสัตว์ภูเก็ตติดตามอาการลูกช้างบาดเจ็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จนท.ปศุสัตว์ภูเก็ตตรวจติดตามอาการบาดเจ็บลูกช้าง “พังปิดปี” หลังได้รับบาดเจ็บจากโดนตะขอบังคับช้างตีที่ขา ขณะที่สถานการณ์ช้างในภูเก็ตไม่น่าเป็นห่วงเหตุไม่มีปัญหาเรื่องช้างเร่ร่อนส่วนใหญ่ใช้ในกิจการการท่องเที่ยว พร้อมระบุผลกระทบท่องเที่ยวส่งผลปางช้างปิดตัวไปแล้วหลายแห่ง

นายจิรายุ นิรันดร์วิโรจน์ สัตว์แพทย์ชำนาญงาน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบอาการบาดเจ็บของช้าง “พังปิดปี” อายุประมาณ 5 ปี ที่ปางช้างแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับบาดเจ็บเนื่องจากโดนควาญช้างใช้ตะขอบังคับช้างตีจนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขาหน้าด้านซ้าย ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้รับบาดเจ็บมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

นายจิรายุกล่าวภายหลังตรวจอาการช้าง “พังปิดปี” ว่า ช้างได้รับบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุถูกตะขอที่ควาญจ้างใช้บังคับช้างตีจนได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผลอักเสบ ซึ่งได้ทำการรักษามาระยะหนึ่งแล้ว และขณะนี้อาการของช้างเริ่มหายเป็นปกติ แต่จะต้องคอยติดตามดูอาการต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ช้างหายและสามารถเดินได้ตามปกติ ซึ่งจากการติดตามดูอาการก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสามารถโชว์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าชมได้แล้ว

ส่วนสถานการณ์ช้างในจังหวัดภูเก็ตนั้น นายจิรายุกล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะเรื่องของช้างเร่ร่อนในภูเก็ตไม่มี ซึ่งช้างในภูเก็ตตามปางช้างต่างๆ สวนสัตว์ และสถานที่จัดแสดงตอนนี้มีช้างอยู่ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 177 เชือก ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศจังหวัดห้ามนำเข้าช้างจากพื้นที่อื่นเข้ามาเพิ่มเติมยกเว้นนำเข้ามาทดแทนทำให้การควบคุมดูแลช้างในพื้นที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาคเอกชนต่างๆ มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างชัดเจนมีการแจ้งข้อมูลการเข้าออกรวมทั้งการตรวจสุขภาพช้างให้ทางปศุสัตว์ทราบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับช้างที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้นส่วนใหญ่จะนำมาใช้ปางช้างต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 แห่ง โดยช้างเหล่านี้จะเป็นช้างที่ให้บริการนักท่องเที่ยวชมป่า และแสดงโชว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพื้นที่น้อยลงส่งผลให้ปางช้างขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต้องปิดตัวไปหลายแห่งเช่นกัน ทำให้ปางช้างที่มีอยู่ขณะนี้มีจำนวนน้อยกว่าในช่วงที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟู
กำลังโหลดความคิดเห็น