ตรัง - สัตว์แพทย์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง เร่งช่วยเหลือช้างพังวังทอง วัย 45 ปี หนัก 2.5 ตัน ซึ่งล้มป่วยหนักหลังเกิดอาหารอุดตันในหลอดอาหาร โดยหวั่นว่าอาการจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้ (16 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้เดินทางไปสังเกตอาการของช้างพังวังทอง อายุ 45 ปี น้ำหนัก 2.5 ตัน ซึ่งเป็นช้างของ นายสุชาติ บัวแก้ว อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 3 ตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ที่เลี้ยงไว้เพื่อการท่องเที่ยว แต่ได้เกิดอาการป่วยนับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยอาการอาหารอุดตันในหลอดอาหาร จนไม่สามารถกินอาหารเองได้ แม้แต่น้ำลายก็ไม่สามารถกลืนลงคอได้เช่นกัน จนส่งผลให้ขณะนี้น้ำหนักตัวของช้างพังวังทอง ลดฮวบลงมาแล้วประมาณ 300-400 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ต้องใช้เชือกป่านในการผูกดึงตัวช้างพังวังทองไว้กับตันไม้ เพื่อป้องกันช้างล้ม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการให้ความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเร่งหาทางช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ แต่จนถึงขณะนี้อาการช้างก็ยังไม่ดีขึ้น เจ้าของช้าง และญาติพี่น้องต้องหันไปพึ่งพาไสยศาสตร์ ด้วยการจุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ช้างพังวังทองหายป่วย และกลับกินอาหารได้โดยเร็วที่สุด เพราะมิเช่นนั้นอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
นายสัตว์แพทย์วัฒนพล พลอยมีค่า สัตว์แพทย์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการช่วยเหลือช้างพังวังทองในครั้งนี้ กล่าวว่า อาการของช้างพังวังทอง ความจริงไม่มีอะไรมาก และไม่มีอาการไข้ ส่วนผลตรวจเลือดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์แพทย์ภาคใต้ อำภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ออกมาเป็นปกติ ซึ่งอาการที่ทีมสัตว์แพทย์ตรวจพบคือ มีอาหารอุดตันในหลอดอาหาร ส่งผลให้ช้างพังวังทองไม่สามารถกินอาหารต่อไปได้ จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง จึงต้องใช้เชือกผูกพยุงตัวไว้
โดยก่อนหน้านี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง และให้น้ำเกลือช่วยเหลือ เพื่อให้มีเรี่ยวแรง พร้อมกับได้พยายามกรอกน้ำมันพืชเข้าไปทางปากช้าง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบสากล กรณีอาหารติดคอช้าง เพื่อให้เกิดน้ำหล่อลื่น จากนั้น ได้ใช้น้ำฉีดอัดเข้าไป แต่ปรากฎว่าวิธีการนี้ไม่สำเร็จ เนื่องจากว่าแรงดันน้ำไม่แรงพอที่จะดันเศษอาหารที่ติดค้างลงไปในท้องช้างได้ แต่ทีมสัตวแพทย์ก็จะพยายามให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการเดิม แต่จะเปลี่ยนเป็นใช้กระบอกฉีดน้ำมันพืชเข้าไป เนื่องจากกระบอกฉีดมีประสิทธิภาพมากกว่า
สัตว์แพทย์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า ในการให้ความช่วยเหลือและดูแลรักษาช้างพังวังทองในครั้งนี้ ได้ทำการปรึกษาหารือกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โรงพยาบาลช้างลำปาง โดยตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ทีมสัตวแพทย์ก็จะเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป และยังจะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหากล่าช้าไปจะส่งผลเสียต่อช้างเป็นอย่างมาก เนื่องจากช้างอาจมีอาการทรุดหนักและล้มลงได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความช่วยเหลือเกิดความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น