ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงานประเพณีผ้อต่อตลาดสดบ้านซ้านคึกคัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานเปิด
วันนี้ (5 ก.ย) ที่บริเวณตลาดสดถนนระนอง หรือตลาดสดบ้านซ้าน ถนนระนอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานแระเพณีผ้อต่อจังหวัดภูเก็ตประจำปี 2552 โดยมี นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต สส.จังหวัดภูเก็ต และประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต นำอาหารคาวหวานนานาชนิด ผลไม้ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือขนมที่ทำด้วยแป้งสาลีผสมน้ำตาลสีแดงปั้นเป็นรูปเต่า เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณตลาดสดดังกล่าวซึ่งเป็นสถานที่จัดงานคึกคักไปด้วยประชาชนและนักท่องเที่ยว
สำหรับงานผ้อต่อ เป็นเทศกาลงานบุญ ซึ่งคำว่าผ้อต่อเป็นคำในภาษาจีนมีความหมายว่า การอนุเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการประกอบพิธีบวงสรวงบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศอานัสงส์อันเกิดจากการบำเพ็ญ ให้แก่บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ซึ่งประเพณีนี้ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จนเรียกได้ว่าเป็นงานประจำปีของชาวภูเก็ตไปแล้วก็ว่าได้ โดยยึดถือตามคติความเชื่อประเพณีจีน งานเทศกาลนี้จัดให้มีขึ้น ตั้งแต่วัน 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีนหรือประมาณเดือน 9 ปฏิทินจันทรคติไทย โดยในส่วนของงานผ้อต่อที่ตลาดสดถนนระนองนั้นจัดขึ้นระหว่างวันนี้ (5 ก.ย) –ถึงวันที่ 6 ก.ย 2552 หลังจากนั้นจะจัดงานตามสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่ง ศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ่ว หรือ พ้อต่อก๊ง อยู่บริเวณบางเหนียว อยู่ติดกับ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว สถานที่นี้จะจัดงานประมาณ 7 วัน 7 คืน ถือว่างานใหญ่มากของที่ศาลเจ้านี้
“งานพ้อต่อมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เทศกาลอุลลัมพน ตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยน แปลความว่า กิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกันเทศกาลพ้อต่อเป็นวันครึ่งปีตามคตินิยมของจีน เป็นวันที่วิญญาณได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมญาติพี่น้อง ชาวจีนจึงจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ ด้วยการตกแต่งแท่นบูชาและเครื่องกงเต็กตามบ้านเรือน”
สำหรับงานพ้อต่อ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานนี้ก็คือ ขนมเต่าสีแดง หรือที่เรียกว่า อั่งกู้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานนี้ประชาชนจะทำมาเซ่นไหว้ ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาล ปั้นเป็นตัว หรือเข้าพิมพ์อัดเป็นรูปเต่า ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วย้อมด้วยสีแดง บ้างคนที่มีฐานะทำมาถวายมีขนาดใหญ่มากๆ ถ้าคนทั่วๆไปก็จะทำอันเล็กๆมาถวาย คนจีนนั้นนิยมว่า เต่าเป็นสัตว์อายุยืน การทำพิธีต่างๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของพิธีด้วย รวมทั้งมีความเชื่อว่าเต่านั้นเป็นพาหนะแห่งสวรรค์ มีอายุยืนยาว สามารถนำผู้คนข้ามดินแดนทุรกันดารได้