xs
xsm
sm
md
lg

พยาธิระบาดหนักหอยแมลงภู่กระชังที่กระบี่ตายกว่า 200 ตันแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่-พยาธิหอยแมลงภู่ระบาดหนัก คาดตายแล้วกว่า 200 ตัน ประมง เก็บตัวอย่างน้ำตรวจพิสูจน์ไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่มีตัวพยาธิอยู่ในตัวหอยเห็นได้ชัด เตรียมประกาศเป็นเขตระบาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ปากแม่น้ำกระบี่ หมู่ที่ 7 ต.ไสไทย อ.เมืองกระบี่ ได้เกิดการระบาดของโรคในหอยแมลงภู่เกิดขึ้น โดยนายธัชชัย อุบลไพศาล นักวิชาการประมงชำนาญการ สำนักงานประมงจังหวัดกระบี่ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบ พบว่ามีหอยแมลงภู่จำนวนมากที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชังเริ่มทยอยตาย ซึ่งตรวจพบในตัวหอยมีตัวพญาธิอยู่ในเนื้อหอย เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำในบริเวณดังกล่าว และเก็บตัวอย่างหอยเพื่อนำไปตรวจสอบ

นางข้อตี้หย้า ภักดี อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 ม.2 ต.ไสไทย อ.เมืองกระบี่ กล่าวว่า หอยที่ตนเลี้ยงไว้มี 3 กระชังแต่ละกระชัง คิดเป็นน้ำหนักหอยประมาณ 200 ตัน พบว่าได้ทยอยตายลงไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ต้องรับภาระขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และเลี้ยงมานานร่วม 5 เดือนกำลังจะขายได้

สภาพของหอยที่ตายนั้น พบว่าจะตายมาจากด้านล่างของเชื่อกที่ให้หอยยึดเกาะ เมื่อเกะดูเนื้อหอยจะมีตัวพญาธิกินเนื้อหอยอยู่ และหอยจะเริ่มผอมก่อนที่รากหอยที่ยึดติดกับเส้นเชือกเน่าและหลุดหายไป ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มมาประมาณ 1 เดือนแล้วจึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประมงเพื่อขอความช่วยเหลือ

นายสมชาย แสงสุข อายุ 42 ปี เกษตรกรอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ได้ลงทุนเลี้ยงหอยและนำลูกพันธุ์หอยไปขายให้กับชาวประมงรายอื่นๆ ในพื้นที่ ต.อ่าวลึกน้อย ที่บ้านบากัน อ.อ่าวลึก และที่บ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมืองกระบี่ เลี้ยง พบว่าขณะนี้ก็ได้รับผลกระทบทำให้ในปีนี้ต้องขาดทุนจำนวนมาก เพราะลูกหอยจะขายให้ในราคาถูก และเมื่อครบ 6 เดือนก็จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10 บาทนำส่งที่จ.สมุทรปราการ แต่ขณะนี้เกือบทั้งหมดตายลง

ขณะที่นายธัชชัย กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณที่เกษตรกรเลี้ยงหอยส่งไปตรวจพิสูจน์แล้ว พบว่าไม่มีเชื้อโรคและน้ำปกติ แต่จะมีความเค็มสูงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าน่าเหมาะสำหรับการเพาะเชื้อของพญาธิชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยหอยที่ตายจะมีลักษณะเดียวกันคือถูกพยาธิกินเนื้อและตายลงในที่สุด คาดว่าหอยที่ตายจะมีปริมาณมากกว่า 500 ตันทั้งจังหวัด ขั้นตอนจากนี้จะนำเสนอต่อจังหวัด เพื่อประกาศให้พื้นที่จุดที่เลี้ยงหอยเป็นพื้นที่ระบาด ส่วนแนวทางการแก้ไข คือให้เกษตรกรหยุดเลี้ยงหรือเลิกเลี้ยงไปก่อน เพื่อตัดวงจรชีวิตของพยาธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น