ตรัง - จว.ตรัง จัดฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ประจำปี 2552 พร้อมกันทั้ง 23 จุด ใน 4 อำเภอ ตามแผนการฝึกซ้อมพร้อมกันทุกจุดทั้ง 6 จว.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ยังพบปัญหาเสียงเตือนดังค่อนข้างเบา แม้ว่าจะแจ้งจนท.ไปตั้งแต่การซ้อมครั้งก่อนแต่การดำเนินการแก้ไขยังล่าช้ามาก
วันนี้ (21 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.20 น.ที่บริเวณสามแยกปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง นายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิ ประจำปี 2552 โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ เช่น อาสาสมัคร มูลนิธิ โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมทำการฝึกซ้อมเป็นจำนวนมาก
โดยตรังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเการฝึกซ้อมพร้อมกันในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล กระบี่ และตรัง จำนวนหอเตือนภัยทั้งหมด 79 แห่ง โดยในส่วนของจังหวัดตรังมีหอเตือนภัยทั้งหมด 23 จุด ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันตัง จำนวน 7 จุด อำเภอปะเหลียน จำนวน 7 จุด อำเภอสิเกา จำนวน 7 จุด และ อำเภอหาดสำราญ จำนวน 2 จุด
ทั้งนี้ ได้มีการสมมติสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ ในบริเวณหมู่เกาะอันดามัน โดยมีโอกาสสูงที่จะเกิดคลื่นสึนามิ และอาจส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย
จากนั้น ในเวลา 10.30 น.ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีการอพยพประชาชน ซึ่งเมื่อเสียงสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น จากหอเตือนภัย ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง ซึ่งห่างจากบริเวณสามแยกปากเมง ประมาณ 500 เมตร
ส่วนบรรยากาศการซักซ้อมนั้นประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างได้วิ่งอพยพ ไปยังศูนย์อพยพซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ณ โรงเรียนหาดปากเมง โดยอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสิเกา และหน่วยงานต่างๆได้เร่งเข้าให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทันที ซึ่งภาพรวมของการฝึกซ้อมในครั้งนี้ถือว่ามีความสมบูรณ์ในบางส่วน และส่วนที่ยังต้องมีการปรับปรุง คือ เสียงสัญญาณเตือนภัย ที่ยังมีระดับเสียงค่อนข้างเบา ทำให้ต้องใช้วิธีการเปิดเสียงสัญญาณเตือน จากรถยนต์สายตรวจและรถโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มระดับเสียงสัญญาณเตือนภัยให้มีความดังเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาของหอเตือนภัย ณ บริเวณชายหาดปากเมง ซึ่งตั้งอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง โดยเสียงที่เบานั้นได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่การดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มา ได้มีการแจ้งไปยังศูนย์เตือนภัยแห่งชาติแล้ว แต่ยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยทราบว่า จะมีการย้ายหอเตือนภัย มาติดตั้งบริเวณสามแยกปากเมง โดยจะใช้เสาสูงที่มีความสูงกว่าระดับทิวสน เพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวรต่อไป