ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตระดมทุกหน่วยงานแก้ปัญหาสุนัขจร ทั้งเกาะ หลังพบบ้านพักพิงสุนัข ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวรองรับสุนัขจรจัดทั้งเกาะไม่ได้ ขณะที่สุนัขจรจัดตามสถานที่ต่างๆ ยังมีอีกมาก เผย ข้อมูลสุนัขบ้านและสุนัขจรจัดในภูเก็ตมีมากกว่า 14,000 ตัว จี้เร่งทำหมั่นลดการขยายพันธุ์
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตได้รับการร้องเรียนเรื่องมีสุนัขจรจัดในที่สาธารณะ แหล่งท่องเที่ยว วัด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญ สกปรก ความไม่ปลอดภัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญถือเป็นการทำลายภาพพจน์การท่องเที่ยวของทางจังหวัด เนื่องจากมีบ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวแล้วถูกสุนัขจรจัดกัดได้รับบาดเจ็บ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม
โดย นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีบ้านพักพิงสุนัขจรจัดจำนวน 1 แห่ง ซึ่งสร้างมาแล้วหลายปี ตั้งอยู่ภายในสวนป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แต่บ้านพักพิงสุนัขจรจัด ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวสามารถรองรับและดูแลสุนัขจรจัดได้เพียง 300-400 ตัว ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อจำนวนของประชากรสุนัขจรจัดที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอีกจำนวนมาก
เช่น อาศัยอตามที่สาธารณะและวัด เช่น ที่วัดหลังศาลมีสุนัขจรจัด จำนวน 150 ตัว วัดฉลอง 100 ตัว ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดจากที่ประชุมเห็นว่าการลดจำนวนปริมาณสุนัขจรจัดที่ได้ผลคือการทำหมัน และอนาคตอาจถึงขั้นต้องติดไมโครชิป และติดตัดเรื่องงบประมาณซึ่งตกตัวละประมาณ 200 บาท
ขณะที่ทางตัวแทนจากมูลนิธิซอยด็อก เผยว่า การติดไมโครชิฟถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่สำคัญจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในเรื่องของการจัดทำข้อมูล เพราะหากยังไม่มีฐานข้อมูลของสุนัขและเจ้าของสุนัขอย่างเป็นระบบ การติดไมโครชิปก็จะสูญเปล่า วิธีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการลดจำนวนสุนัขจรจัด คือ การทำหมันสุนัขจร โดยทางมูลนิธิมีเจ้าหน้าพร้อมร่วมดำเนินการรอเพียงทางปศุสัตว์จัดงบประมาณและแผนงานในการออกให้บริการทำหมันสุนัขจรจัดในพื้นที่ต่างๆ
และสิ่งสำคัญในการแก้และลดจำนวนสุนัขจรจัดนั้น เราต้องยอมรับความจริงว่าสุนัขจรจัดที่เกิดขึ้นมาจากสุนัขบ้านนั่นเอง หนทางในการแก้ไขระยะยาวเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต่างๆ ต้องเร่งออกข้อบัญญัติในการสำรวจข้อมูลครัวเรือนสุนัขในบ้านเรือน มีการกำหนดว่าบ้านเรือนที่มีรายได้เท่าไหร่สามารถเลี้ยงสุนัขได้กี่ตัว เพราะหากตนเองไม่มีกำลังพอถึงเวลาสุนัขเลี้ยงที่เจ้าของเลี้ยงไมไหวก็จะกลายเป็นสุนัขจรจัดสร้างปัญหาให้กับสังคมต่อไป
ทางด้านตัวแทนจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เผยว่า ที่ผ่านมา ทาง อบต.ฉลอง ได้จัดสรรงบประมาณให้ทางปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต เพื่อดำเนินการในเรื่องสุนัขจรจัดที่บ้านพักพิงสุนัขจรจัดที่สวนป่าบางขนุน แต่เมื่อทาง อบต.ฉลอง จับสุนัขจรจัด จำนวน 5 ตัว นำไปส่งให้กับทางบ้านพักพิงสุนัขจรจัดกลับถูกปฏิเสธว่าเต็มแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปีนี้ทาง อบต.ฉลอง จึงตัดงบประมาณนำมาดำเนินการในส่วนของท้องถิ่นเองเช่นการฉีดวัคซีน ทำหมัน จึงมองว่าหากจะมีการแก้เรื่องสุนัขจรจัดอย่างได้ผลทางจังหวัดต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
ด้าน นายแพทย์ พงษ์สวัสดิ์ รัตนแสง นายแพทย์สาธารณสุข จ.ภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในส่วนการดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย เช่น การสำรวจข้อมูลผู้ครอบครองจำนวนสุนัข การขึ้นทะเบียนสุนัข ตลอดจนการฝังไมโครชิป ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หรืออาจมีการหาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้กับสุนัขจรจัด เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนในเรื่องงบประมาณแทนภาครัฐที่มีงบประมาณจำนวนจำกัด ที่สำคัญคือ คนที่เลี้ยงสุนัขควรต้องนำสุนัขมาทำหมัน รวมทั้งการเร่งทำหมันสุนัขจรจัดทั้งหมดเพื่อไม่ให้แพร่ขยายพันธุ์จนเพิ่มปริมาณเช่นทุกวันนี้