xs
xsm
sm
md
lg

ชาวรัษฎาผวาหลังพบเสืออาละวาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – ชาวบ้าน อ.รัษฎา จ.ตรัง ตื่นเสือไม่กล้าออกกรีดยางพารา เดือดร้อนทางอำเภอต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในหมู่บ้าน และติดต่อเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ฯ เร่งพิสูจน์รอยเท้า

วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ว่า มีคนพบเห็นเสือขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง ขณะเข้าไปกรีดยางพารา ขณะเดียวกัน ก็พบรอยย่ำเท้าของเสือเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านไม่กล้าออกไปกรีดยางพาราตามปกติ เพราะกลัวจะถูกเสือทำร้าย ทั้งนี้ เหตุการณ์ข่าวลือดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ช่วยกันติดตามแกะรอยสัตว์ ที่คาดเดาในเบื้องต้นว่าเป็นรอยเสือ และช่วยกันออกไล่ล่าประมาณ 3 วัน

จนกระทั่งเมื่อถึงคืนวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ในเวลาประมาณ 02.00 น.ขณะที่ นางนุชนารถ อ่อนอินทร์ อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 9 ต.ควนเมา พร้อมด้วย นางสาววัลภา สงสังข์ อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 14 ต.ควนเมา อ.รัษฎา ได้ออกไปกรีดยางพาราด้วยกัน ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.ควนเมา แต่หลังจากกรีดไปได้ประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่ จากสวนยางพาราทั้งหมด 8 ไร่ นางสาววัลภา และ นางนุชนารถ ได้ยินเสียงสัตว์ใหญ่คำรามขู่ดังฮือๆ จึงหันไปหาที่มาของต้นเสียง ก็ต้องตกตะลึงกับภาพที่เห็น คือ ดวงตาของสัตว์ตัวหนึ่ง ซึ่งเมื่อต้องแสงไฟจะปรากฎเป็นสีแดง ปนสีน้ำตาลเหลืองขุ่น อยู่ในท่ากำลังนอนหมอบอยู่กับพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นเช่นนั้น ชาวบ้านทั้ง 2 คน จึงเข้าใจตรงกันว่า สัตว์ที่พบคงเป็นเสือตัวเดียวกับรอยเท้าที่มีการแกะรอยตามหามาหลายวันแล้ว จึงถอยกรูดและร้องเสียงหลงวิ่งหนีออกจากสวนยางพารา หลังจากนั้น ก็ได้นำเรื่องนี้เล่าให้ผู้นำในพื้นที่ฟัง ต่อมาชาวบ้านจึงได้แจ้งประสานไปยัง นายสมพร สถิตย์ภูมิ นายกอำเภอรัษฎา ให้รับทราบ โดยทางนายอำเภอก็ได้เข้าไปตรวจสอบรอยเท้าในพื้นที่ ซึ่งพบว่าเป็นรอยเท้าสัตว์ข้างเดียวและมีขนาดใหญ่ จึงแจ้งประสานไปยังเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวแล้วถึง 2 ครั้ง ก็พบว่าเป็นรอยเท้าของสัตว์ขนาดใหญ่จริง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นเสือหรือไม่

ผู้สื่อรายงานว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 2, 9 และหมู่ที่ 14 ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง และในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.วังหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างกัน รวมจำนวนเกือบ 1,000 ครัวเรือน ต่างก็ไม่มีใครกล้าออกไปกรีดยางพาราอีกเลย หรือบางรายก็ใช้วิธีการออกมากรีดในตอนเช้า หรือตอนเย็นแทน ซึ่งก็กรีดได้ไม่หมด เพราะแต่ละคนมีพื้นที่สวนยางพาราทำกินจำนวนนับสิบไร่ ทำให้ขาดรายได้ติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม จนสร้างความเดือดร้อนให้เป็นอย่างมาก

ล่าสุด เมื่อบ่ายวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเดินทางเข้าพบนายอำเภอรัษฎาอีกครั้ง เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบหาความกระจ่าง ว่า เป็นรอยเท้าของสัตว์ชนิดใด และหากเป็นเสือจริงจะต้องจับตัวให้ได้ เพื่อจะได้ออกไปกรีดยางพาราตามปกติ ดังนั้น นายสมพร สถิตย์ภูมิ นายอำเภอรัษฎา จึงได้นำผู้สื่อข่าวไปดูพื้นที่สวนยางพาราหลังวัดคีรีรัตนาราม หรือวัดควนล้อน หมู่ที่ 14 ต.ควนเมา อ.รัษฎา จุดที่ชาวบ้านพบสัตว์ตัวดังกล่าว และพบเห็นรอยเท้าจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่กล้าออกกรีดยางพาราตามปกติ และพบเห็น นายโรจน์ จันทร์ทอง อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 14 พร้อมเพื่อนบ้าน กำลังถือปืนเดินแกะรอยตามหาเสือตัวดังกล่าว

นายสมพร สถิตย์ภูมิ นายอำเภอรัษฎา กล่าวว่า หลังทราบเรื่อง ตนก็ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) และเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวมทั้งผู้นำชุมชน และชายฉกรรจ์ในพื้นที่ทั้ง 4 หมู่บ้าน 2 ตำบล ออกรักษาความปลอดภัยและลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้สบายใจ พร้อมยอมรับว่าในส่วนของรอยเท้าที่พบเห็นนั้น เป็นรอยเท้าสัตว์ใหญ่จริง แต่ก็ยังแปลกใจว่าทำไมในแต่ละจุดจึงมีพบแค่เพียงรอยเดียว และไม่มีลักษณะเป็น 4 รอย เหมือนกับสัตว์สี่เท้า นอกจากนั้น ในพื้นที่ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังมีการพบหมูดินอาศัยอยู่อีกประมาณ 3-4 ตัว

แต่รอยเท้าหมูดินกับรอยเท้าสัตว์ใหญ่ที่พบมีความแตกต่างกัน เพราะรอยเท้าหมูดินจะมีขนาดเล็กกว่า และชาวบ้านก็สามารถแยกแยะได้ ขณะนี้ทางงอำเภอจึงไม่ทราบว่าเป็นรอยสัตว์ใหญ่ชนิดใด ในวันนี้ (6 ส.ค.) ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จะส่งเจ้าหน้าที่ที่มีชำนาญในการสังเกตุรอยเท้าสัตว์ เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อีกครั้ง และคงได้ข้อสรุป เพราะตนอยากให้ชาวบ้านได้สบายใจว่าเป็นสัตว์ชนิดใด แต่หากเป็นเสือจริง ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเสือที่อาจจะมีผู้ลักลอบขนมา แล้วแอบปล่อยทิ้งลงข้างทาง ขณะที่จะผ่านจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ เพราะในพื้นที่อำเภอรัษฎาไม่มีเสืออาศัยอยู่อย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะกับสัตว์ขนาดใหญ่




กำลังโหลดความคิดเห็น