xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึงพบ "รอยเท้าเด็กโบราณ" ที่สุราษฎร์ คาดอายุราว 1,300 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเท้าเด็กที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรค้นพบบนแผ่นอิฐที่โบราณสถานเขาพระนารายณ์ (ศรีวิชัย) จ.สุราษฎร์ธานี คาดอายุราว 1,300 ปี
พบรอยเท้าเด็กบนแผ่นอิฐโบราณ บริเวณเขาพระนารายณ์ จ.สุราษฎร์ธานี คาดเป็นรอยเท้าเด็ก 2 ขวบ คะเนอายุราว 1,300 ปี หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี นำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราชแล้ว

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. กรมศิลปากรแจ้งว่า นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 14 ที่กำลังปรับพื้นที่เพื่อดำเนินการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงโบราณสถานเขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้พบอิฐดินเผามีรอยเท้าเด็กติดอยู่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าแผ่นอิฐมีขนาดกว้าง 15.3 ซม. ยาว 22 ซม. หนา 6 ซม. น้ำหนัก 3,200 กรัม รอยเท้าที่พบมีสองรอยวางตัวสลับทิศทางกัน ขนาดของรอยเท้ากว้าง 4.7 ซม. ยาว 11.6 ซม. คาดว่าเป็นรอยเท้าของเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี ขณะนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช แล้ว

นายพงศ์ธันว์ กล่าวว่า โบราณสถานเขาพระนารายณ์ มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 8x12 เมตร วางตัวยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ สภาพของโบราณสถานพังทลายมาก เหลือความสูงของส่วนฐานประมาณ 25 เซนติเมตร หรือก่อเรียงอิฐสูงประมาณ 4 ชั้นอิฐ ขอบฐานมีความหนาประมาณ 75 เซนติเมตร ก่อเรียงอิฐแบบสั้นสลับยาว ก่อล้อมแกนดินผสมอิฐและหินถมอัดอยู่ภายใน เหลือความสูงในส่วนนี้ประมาณ 1 เมตร อิฐที่ใช้ก่อมีขนาดประมาณ 34 x 17 x 7 และ 30 x 18 x 6 เซนติเมตร เป็นอาคารที่มีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12-15

ต่อมาในปีงบประมาณ 2549 สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่กลุ่มโบราณสถานเขาพระนารายณ์ จนได้ค้นพบอาคารโบราณสถานเพิ่มขึ้นล่าสุดอีกหนึ่งหลังในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ อาคารหลังนี้มีสภาพพังทลาย ทรุดโทรมอย่างรุนแรงอันอาจเกิดจากการรื้อถอนหรือพังทลายตามธรรมชาติจนไม่สามารถศึกษารูปแบบอาคารและหน้าที่การใช้งานที่แท้จริงได้

“ล่าสุดปี 2552 ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำการอนุรักษ์เสริมความมั่นคง โดยพยายามซ่อมแซมให้ร่องรอยอาคารมีความมั่นคงขึ้นตามสภาพที่ยังเหลืออยู่และระหว่างการเคลื่อนย้ายอิฐที่กระจายอยู่ทั่วไป ได้พบอิฐที่มีรอยประทับฝ่าเท้าสองรอย ซึ่งถือเป็นหลักฐานเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ชัดเจนมากที่สุดประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากซากสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้ รอยประทับฝ่าเท้าอาจเป็นของเด็กที่มีอายุประมาณ 2 ปี ที่เหยียบลงบนก้อนดินเหนียวซึ่งเตรียมไว้ก่อนนำเข้าเตาเผาให้เป็นอิฐ จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจสอบพบพื้นที่ที่ใช้เตรียมอิฐเพื่อการก่อสร้างศาสนสถานเมื่อประมาณ 1,300 ปีที่แล้ว แต่เป็นไปได้ว่าอาจอยู่ภายในบริเวณหมู่บ้านสมัยโบราณที่เคยมีอยู่โดยรอบเชิงเขาพระนารายณ์” นายพงศ์ธันว์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น