xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มอ.ชี้ ยิงมัสยิดส่อไฟใต้โหมเพิ่ม-รัฐยังงมโข่งหาต้นตอปัญหาไม่พบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อาจารย์ มอ.ปัตตานีชี้เหตุยิงมัสยิดนราธิวาส ยากระบุเป็นฝีมือใคร เพราะเป็นพื้นที่ขัดแย้งสูง และเป็นไปได้ยากที่เจ้าหน้าที่รัฐก่อเหตุเอง เพราะไร้มูลเหตุจูงใจ เผยแนวโน้มเกิดเหตุรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะฝ่ายรัฐยังหาต้นตอที่แท้จริงไม่พบ แนะมุ่งใช้นิติวิทยาศาสตร์คลี่คลายคดี

จากกรณีที่เกิดเหตุคนร้ายยิงถล่มมัสยิดอัลพุร์กอน หมู่ที่ 1 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (8 มิ.ย.) จนส่งผลให้มีชาวมุสลิมที่กำลังละหมาดในมัสยิดดังกล่าวเสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บอีก 12 คนนั้น ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์กับ"ASTVผู้จัดการออนไลน์"ถึงกรณีดังกล่าวว่า ณ ขณะนี้คงไม่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มบุคคลใดเป็นผู้ก่อเหตุ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของปัญหาผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ปัญหาด้านยาเสพติด ตลอดจนถึงปัญหาการเมืองท้องถิ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่นี้มาอย่างสม่ำเสมอ

“เราคงฟันธงไปไม่ได้ว่าใครเป็นคนทำ เพราะอย่างที่บอกก็คือปัญหาความขัดแย้งบนพื้นที่นี้มันมีสูงมาก แล้วก็หลายเรื่อง ทั้งเรื่องผู้ก่อการร้ายที่สร้างสถานการณ์ก็มี เรื่องยาเสพติดก็มีมาก เพราะทุกวันนี้เด็กในพื้นที่ก็ติดยาเสพติดกันเยอะ หรือแม้แต่เรื่องการเมืองท้องถิ่นก็เคยมีการยิง การฆ่า อบต.มาแล้ว”

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าชาวบ้านบางส่วนมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่สร้างสถานการณ์เองนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะหากเราพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้ว มูลเหตุจูงใจที่เจ้าหน้าที่จะทำก็คงไม่มี เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่าต้องการลดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะทำเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ หรือลดเครดิตของตัวเองเพื่ออะไร

สำหรับกระแสข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่อาจกระทำการความรุนแรงเองเพื่อหวังได้งบประมาณเพิ่มในการดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนนั้น ตนเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน เพราะถึงแม้ทางรัฐบาลจะได้มอบนโยบายให้กองทัพวางแผนเพื่อลดกำลัง และงบประมาณ แต่นั่นก็หมายถึงการลดเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว อีกทั้งในปัจจุบันเป็นยุคของการสื่อสารและการตรวจสอบ คณะทำงานต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็คงต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างแน่นอน จึงคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าหน้าที่จะทำโดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้สร้างสถานการณ์จะเกิดขึ้นจากขบวนการก่อการร้ายที่ปล่อยข่าวเพื่อให้ร้ายเจ้าหน้าที่ ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องของการปล่อยข่าวเสียทีเดียว กล่าวคือกระบวนการปล่อยข่าวอาจจะมีขึ้นบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วกระแสข่าวเหล่านี้ น่าจะเกิดขึ้นจากมายาคติที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเอง เพราะความเชื่อในเรื่องนี้ เป็นเหมือนความเชื่อที่ถูกผลิตซ้ำมานานพอสมควร จากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มักมองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับชาวบ้านก็ต้องพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐก่อน ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ตาม ซึ่งความเชื่อนี้ก็ไม่ได้มีแต่ชาวบ้านที่คิด แม้แต่ตัวสื่อมวลชนเองบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังมีการตั้งคำถามเสมอว่าเกิดจากการกระทำของภาครัฐหรือไม่

ต่อคำถามว่า มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ในพื้นที่อีก ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้อีก และยังอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะต้องยอมรับว่าจนถึงขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเอง อาจจะยังจับประเด็นไม่ได้ด้วยซ้ำว่าการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเป็นฝีมือของคนกลุ่มใดกันแน่ และทำเพื่อหวังผลอะไร

“อย่างที่บอกว่าพื้นที่นี้มันเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง และความขัดแย้งก็มีมากหลายเรื่องมาก ทั้งในเรื่องความมั่นคง เรื่องยาเสพติด หรือแม้แต่เรื่องการเมือง มันก็เหมือนเป็นพื้นที่ ที่ใครจะมาใช้สร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลอะไรก็ได้เราก็ไม่รู้ อย่างในช่วงแรกก็มีกระแสข่าวว่าเป็นอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แต่มาในช่วงหลังการตรวจสอบพบหลายครั้งก็มีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือบางครั้งก็อาจมีการโยงไปถึงเรื่องการเมืองได้อีก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐได้ตกเป็นจำเลยของสังคมส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะไม่ได้ทำหรือมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่บางครั้งสังคมอาจจะลืมตระหนักก็คือ บางครั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่อาจเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างประชาชนเอง เช่นปัญหาอาชญากรรม ฉก ชิง วิ่งราว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบเลย แต่ท้ายที่สุดก็ถูกมองเป็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องของการให้เงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ไม่สงบ ก็ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตบางรายพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อให้เจ้าหน้าที่มองสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเรื่องของเหตุการณ์ไม่สงบเพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมองตรงจุดนี้ด้วยว่าบางครั้ง การใช้เงินในการแก้ปัญหาก็อาจทำให้ภาพคดีนั้นเปลี่ยนไป สุดท้ายก็ส่งผลต่อภาพรวมของสถิติการก่อความไม่สงบในพื้นที่

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น ผศ.ชิดชนกมองว่า รัฐบาลควรจะต้องให้งบฯ สนับสนุนงานในด้านนิติวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะขณะนี้ในพื้นที่ขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณในด้านดังกล่าว และเมื่อขาดตรงจุดนี้แล้วก็ทำให้การทำงานคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ทำได้ยากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่เองไม่สามารถรู้ได้ว่าการก่อเหตุแต่ละครั้ง เป็นฝีมือของคนกลุ่มใด เพื่ออะไร จึงไม่สามารถประเมินหาทางแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
กำลังโหลดความคิดเห็น