ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผลโครงการ "80 สถานีผลิตไบโอดีเซลเพื่อพ่อ" ยกระดับ สภ.รัตภูมิประสบความสำเร็จนำร่องผลิตไบโอดีเซลแห่งแรกในภูธรภาค 9 ด้วยไขมันหมูและน้ำมันพืชใช้แล้วประสบผลสำเร็จ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 350,000 บาท กำลังการผลิต 150 ลิตร/วัน ชี้แก้ปัญหางบค่าน้ำมันไม่พอจ่ายในภาวะที่น้ำมันถีบตัวสูงขึ้น การันตีใช้แล้วเครื่องยนต์ไม่ติดขัด ไล่จับคนร้ายได้โดยไม่ต้องกลัวสะดุด พร้อมยกระดับเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้แก่หน่วยงานที่สนใจ
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งสนับสนุนทุกภาคส่วนของสังคมกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพ เดินทางลงติดตามความคืบหน้าโครงการพลังงานชุมชน ตามรอยวิถีคนพอเพียงภาคใต้ ที่ สภ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานีตำรวจแห่งแรกในภูธรภาค 9 ผลิตไบโอดีเซลใช้ภายในหน่วยงาน สอดคล้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดำเนินการทดลองกว่า 30 ปี เพื่อให้ประเทศไทยได้พึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง
นายทรงธรรม โพธิ์ถาวร วิศวกร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมัน ได้ทำการวิจัยและพัฒนาน้ำมันมันปาล์มผลิตเป็นไบโอดีเซล พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดเทคโนโยลีสู่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและภาคอุตสาหกรรม
นอกจากการนำปาล์มน้ำมันมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแล้ว ยังได้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ เช่น ไขวัว หรือน้ำมันหมู แต่เนื่องจากงานวิจัยเรื่องนี้ยังมีไม่มากพอ ดังนั้น จึงต้องศึกษากรรมวิธีการสกัดน้ำมันจากไขมันหมู และการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันหมูเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ โดยทำการวิจัยและพัฒนาที่สถานีตำรวจรัตภูมิ เนื่องจากภายในบริเวณ อ.รัตภูมิ เป็นแหล่งผลิตหมูรายใหญ่ มีเศษไขมันหมูราคาถูกที่สามารถน้ำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้
โดยในปี 2550 สถานีตำรวจรัตภูมิได้รับการติดตั้งเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากบริษัทเอกชน กำลังการผลิต 150 ลิตร/วัน ราคาประมาณ 350,000 บาท โดยใช้วัตถุดับจากน้ำมันพืชใช้แล้วที่ขอรับบริจาคจากร้านอาหารและครัวเรือนในพื้นที่ แต่เกิดปัญหาเนื่องจากคู่มือการผลิตไบโอดีเซลมีรายละเอียดไม่เพียงพอ ทำให้น้ำมันที่ได้ยังขาดการวิเคราะห์คุณภาพ สถาบันวิจัยฯ จึงได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการผลิตด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดี และได้นำเยาวชนเข้ามาร่วมเป็นวิทยากรอีกด้วย
นายทรงธรรม กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการหาวัตถุดิบ วิธีการและระยะเวลาเก็บรักษาไขมันหมู อัตราการสกัดน้ำมัน โดยกระบวนการเจียวน้ำมันหมูจะให้ความร้อนจากเตากลีเซอรอลที่ได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ขั้นตอนการทรานส์เอสเตอริฟิเคชัน 2 ครั้ง กระบวนการปรับแต่งคุณสมบัติไบโอดีเซล การควบคุมคุณภาพ การบำบัดน้ำเสีย การศึกษาทดสอบการใช้ การวิเคราะห์ต้นทุน ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน
ด.ต.มนัส จันทร์ณรงค์ ผบ.หมู่ ป้องกันปราบปราม สภ.รัตภูมิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการผลิตไบโอดีเซล เปิดเผยว่า โครงการไบโอดีเซลในสถานีตำรวจภูธรเกิดมาได้ในสมัยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ให้งบประมาณตำรวจผลิตไบโอดีเซลในโครงการ "80 สถานีผลิตไบโอดีเซลเพื่อพ่อ" และได้รับทุนสนับสนุนร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หลังจากที่เริ่มโครงการผลิตไบโอดีเซลจากไขมันสัตว์ และน้ำมันพืชใช้แล้ว ประชาชนได้ให้ความร่วมมือบริจาควัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นการลดสิ่งปฎิกูลและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตำรวจกับชุมชนด้วย นับเป็นสถานีตำรวจนำร่องในการผลิตไบโอดีเซลของตำรวจภูธรภาค 9 ดำเนินการผลิตไบโอดีเซลใช้กับรถยนต์ของสถานีตำรวจ ทั้งนี้ ไขมันหมูที่คำนวณมาแล้วพบว่า หมู 1 ตัว จะให้มัน 2 กิโลกรัม ผลิตไบโอดีเซลได้ 66% นั่นคือ หากต้องการน้ำมันไขมันหมู 150 ลิตรจะต้องใช้หมูประมาณ 125 ตัวนั่นเอง
"ช่วงแรกที่ออกทำงานสายตรวจควบคู่กับการรณรงค์รับบริจาควัตถุดิบ อาจจะถูกมองบ้างว่าทำไมเป็นตำรวจแล้วต้องทำแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอายเพราะเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนเข้าใจก็สนับสนุนให้วัตถุดิบฟรีๆ เพราะดีกว่าเทลงคูน้ำทำลายสิ่งแวดล้อมและเดินทางตามรอยทางของในหลวงด้วยการพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงาน" ด.ต.มนัสกล่าวต่อและว่า
เมื่อเก็บสะสมวัตถุดิบได้แล้ว จะใช้เวลาว่างในการผลิตซึ่งในแต่ละเดือนจะทำประมาณ 3 ครั้ง ประมาณ 500 ลิตร ใช้เติมรถยนต์สายตรวจจำนวน 6 คัน โดยทำการผสมกับดีเซลกับไบโอดีเซลในสัดส่วน 50:50 และอีก 1 คันเติมไบโอดีเซล 100% และให้เกษตรกรมาทดลองใช้กับเครื่องมือการเกษตรอีกด้วย ซึ่งก็ยังไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการนัก เพราะยังติดขัดในเรื่องปริมาณวัตถุดิบหลัก คือ ไขมันสัตว์และน้ำมันพืชใช้แล้วมีไม่เพียงพอ
สำหรับต้นทุนการผลิตนั้น หากผลิตจากไขมันสัตว์มีต้นทุนประมาณ 26 บาท โดยเป็นราคาวัตถุดิบ 10 บาท/กก., กระบวนการสกัดเป็นน้ำมัน 9 บาท, กระบวนการผลิต 6 บาท และกระบวนการบำบัดน้ำเสีย 0.15 บาท/ลิตร จะแพงกว่าต้นทุนการผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วประมาณ 5 บาท ซึ่งที่มีราคารับซื้อลิตรละ 14 บาทโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสกัด
"อนาคตของไบโอดีเซลในสถานีตำรวจนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บังคับบัญชาด้วยว่าจะสนับสนุนหรือไม่ เพราะจะต้องมีเงินทุนในการซื้อเครื่องผลิตไบโอดีเซลซึ่งมีราคาตั้งแต่ 100,000 - 300,000 บาท แล้วแต่คุณสมบัติในการทำงาน และข้อสำคัญคือต้องมีการปรับทัศนคติที่เข้าใจผิดในเรื่องการใช้ไบโอดีเซล เพราะถ้าผลิตอย่างถูกต้องได้มาตรฐานแล้วเครื่องยนต์ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร" ด.ต.มนัสกล่าวต่อและว่า
ขณะนี้มีประชาชน กลุ่มนักเรียน และหน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจศึกษาดูงาน เพื่อนำแนวคิดนี้ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้ โดยมีเฉพาะเทศบาลตำบลนาสีทอง อ.รัตภูมิ ได้ให้ความสนใจผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้กับรถเก็บขยะ และรถกระเช้าซ่อมไฟฟ้า และขยายความสนใจไปยังโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้รถโฟล์คลิฟต์ยกสิ่งของ เพราะไม่ทำให้รถมีควันเสียเท่ากับการใช้น้ำมันดีเซล
ด้าน ด.ต.ชิต ศรีแสงแก้ว สภ.รัตภูมิ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้น้ำมันในการปฎิบัติงาน แต่เมื่อเผชิญกับภาวะน้ำมันราคาแพงก็ไม่ได้รับงบประมาณค่าพาหนะเพิ่ม ทำให้ต้องควักเงินส่วนตัวเติมน้ำมันเอง และข้อจำกัดนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการลาดตระเวนดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่รับผิดชอบ จึงลดลงตามข้อจำกัด แต่ต้องยอมรับว่าก่อนทดลองใช้ไบโอดีเซลกับรถสายตรวจในช่วงแรก ก็ยังมีความกังวลถึงประสิทธิภาพอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเดินทางไกล หรือต้องติดตามคนร้ายกลัวเครื่องยนต์จะสะดุดกลางคัน แต่เมื่อใช้แล้วเครื่องยนต์ไม่มีปัญหา ประหยัดค่าเชื้อเพลิงและทำงานได้มากขึ้น และเป็นต้นแบบให้ สภ.อื่นๆ ดำเนินรอยตาม ซึ่งล่าสุดคือ สภ.ปัตตานี ที่หันมาผลิตไบโอดีเซลใช้เองแล้วเช่นกัน