สตูล – ผู้ประกอบการรีสอร์ตเกาะหลีเป๊ะ วอนทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหาขยะมลพิษน้ำเสีย หวั่นสิ่งแวดล้อมบนเกาะเสื่อม ปัญหาพิษเศรษฐกิจตามมา พร้อมแนะสร้างจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูลเร่งตรวจดูสภาพบ่อบำบัดน้ำเสียรีสอร์ต ร้านอาหาร
วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดสตูลว่า มลพิษด้านขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่เกิดขึ้นบนเกาะหลีเป๊ะ กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังทำลายภาพลักษณ์อันสวยงานของเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักทางทะเลของจังหวัดสตูล มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของ โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารบนเกาะ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการแก้ปัญหาขยะมูลดำเนินได้เพียงบางส่วน ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดโดยกลุ่มอนุรักษ์หลีเป๊ะเป็นการช่วยลดปัญหาขยะล้นเกาะได้ส่วนหนึ่ง
แต่ปัจจุบันและอนาคตปริมาณขยะนับวันจะทวีเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้รูปแบบการจัดการในปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้ ส่วนมลพิษจากน้ำเสียแม้ว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่จำเป็นจะต้องมีการวางแผนและกำหนดแนวทางไว้สำหรับป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอนาคต
ด้าน นายสุกิจ รัตนวิบูลย์ ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสตูล ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสียในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการกำจัดขยะมูลฝอยและน้ำเสียบนเกาะหลีเป๊ะ
โดยมีผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร นักท่องเที่ยว และชาวบ้านเกาะอาดัง เข้ารับฟังผลการศึกษาสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านขยะและน้ำเสียในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ แนวทางเพื่อการจัดการกำจัดขยะมูลฝอยและน้ำเสีย รูปแบบของถังดักไขมันประเภทต่างๆ และสาธิตการจัดทำถังดักไขมันสำหรับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ร้านอาหาร และผับบาร์ รวมถึงรูปแบบของการนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ในการผลิตก๊าซชีวภาพ จากบริษัท เซาท์เทอร์น สตัดดี้ จำกัด
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาะหลีเป๊ะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเกาะหลีเป๊ะ สร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
พร้อมนี้ยังพบว่าแหล่งกำเนิดขยะที่พบมากที่สุดยังอยู่ในส่วนของโรงแรม/ที่พัก 1,614.5 กก./คน/วัน ร้านอาหาร/บาร์ 472.8 ครัวเรือน 115.4 และสถานีอนามัย 2.4 กก./คน/วัน รวมทั้งสิ้น 2,205.1 กก./คน/วัน คิดเป็นร้อยละ 100
สำหรับผลการสำรวจจากบริษัท เซาท์เทอร์น สตัดดี้ จำกัด เผยตัวเลขปริมาณขยะที่กลุ่มอนุรักษ์หลีเป๊ะรวบรวมเพื่อนำไปกำจัดเฉลี่ยวันละ 1,136.3 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 51.53 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยขยะอินทรีย์มีปริมาณวันละ 517.36 ซึ่งมากที่สุดรองลงมา คือ ขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 324.6 กิโลกรัม (จัดเป็นถุงพลาสติก 318.38 กิโลกรัม และโฟม 6.06 กิโลกรัม) ที่เหลือเป็นขยะอันตราย 2.75 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล 291.57 กิโลกรัม/วันปริมาณการน้ำเสียทั้งหมด จำนวน 389,340 ลิตร/วัน โดยมาจากโรงแรง รีสอร์ท 320,427 ลิตร/วัน ร้านอาหาร/บาร์ 20,813 ลิตร/วัน จากครัวเรือน 48,100 ลิตร/วัน
โดยแนวทางในการจัดการน้ำเสียมี 3 ด้าน คือ ด้านการลดปริมาณน้ำเสีย โดยนำหลักเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกิจการต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำเสีย แนวทางด้านการรวบรวมน้ำเสีย และแนวทางการบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดทั้งในส่วนกิจการและครัวเรือนจัดให้มีการนำร่องและขยายผลไปสู่ส่วนอื่น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานบังคับใช้ถังดักไขมันสำหรับกิจการทุกประเภท บ้านเรือนที่ปลุกสร้างขึ้นใหม่ในอนาคตและติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล เข้าตรวจดูวิธีการบำบัดน้ำเสียจากการประกอบอาหารจำหน่ายนักท่องเที่ยว และระบบการจัดการแยกขยะของรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ และแนะนำวิธีการจัดการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาขยะ ปัญหาแมลงวัน กลิ่น รวมถึงมาตรการในการจัดการปัญหาเรื่องขยะไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของคนบนเกาะหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือผสานกันในการแก้ปัญหา
นางลดาวัลย์ อังโชติพันธุ์ ผู้จัดการอันดามันรีสอร์ท กล่าวถึงวิธีการจัดการขยะโดยการแยกขยะเป็นกลุ่มๆ ส่วนขยะเปียกนั้นขณะนี้ใช้วิธีฝังกลบ ขยะแห้งจะเผา ในส่วนของน้ำเสียจะลงถังบำบัดไขมัน ทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้น้ำเสีย ซึ่งสามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง
ด้าน นายอมรินท์ ศาลากิจ ผู้จัดการบันดาหยารีสอร์ท บนเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ระบบการจัดการขยะต่างๆ ในรีสอร์ตนั้น เบื้องต้นจะมีการคัดแยกขยะก่อน โดยพนักงานนั้นจะมีการอบรมให้รู้ว่าขยะมีกี่ประเภทที่ต้องคัดแยกออกมา ภายหลังคัดแยกแล้วขยะรีไซเคิลก็จะนำขึ้นฝั่ง ส่วนขยะทั่วไปก็จะใช้วิธีเผา แต่เป็นการเผาเพียงเล็กน้อย ส่วนขยะเปียกก็จัดทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพเอาไว้ใช้งานในรีสอร์ต ส่วนน้ำจากขยะเปียกนั้นเมื่อผ่านกระบวนการหมักแล้วจะนำไปรดน้ำต้นไม้ ขยะมีพิษนั้นก็มีไม่มากจะใช้วิธีฝังกลบบ้างหากฝังไม่ได้ก็ฝากทิ้งบนฝั่ง
ในส่วนของการบำบัดน้ำเสียนั้น ในแต่ละห้องจะมีถังบำบัดเอนกประสงค์สำเร็จรูปในทุกห้อง ส่วนของครัวจะมีบ่อบำบัดน้ำเสียอยู่ไว้ดักไขมันอยู่แล้ว ตรงนี้สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ในส่วนของน้ำเสียนั้นจะกล่าวเป็นจุดๆ ไม่ได้ต้องพูดเป็นภาพรวมทั้งเกาะมากกว่า หากทุกรีสอร์ท ทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนทำนั้นก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาขยะและน้ำเสียได้อย่างไร ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำคงไม่ได้
ผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะยังกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาขยะและน้ำเสียนั้นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ ในส่วนของเกาะหลีเป๊ะนั้นนับว่าเพิ่งจะเริ่มต้นเพราะเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงอยู่ขณะนี้ ในส่วนของปัญหาขยะ น้ำเสียก็ตามมาเป็นเงาตามตัว หากไม่ช่วยกันรักษาก็คงจะเป็นปัญหาเหมือนเกาะอื่นๆที่ดังแล้วก็โทรม ทั้งนี้นอกจากส่วนราชการที่เข้ามาบริหารจัดการให้แล้ว สิ่งที่น่าจะเพิ่มเติมคือการปลุกจิตสำนึกให้คนที่มาใช้ชีวิตบนเกาะนี้
ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบ หรือแม้แต่ชาวบ้าน ซึ่งมองว่าหากไม่มีจิตสำนึกต่อให้มีเครื่องมือดีแค่ไหนก็แล้วแต่ คงไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ตามที่ต้องการจัดการกับปัญหาตรงนี้ได้ โดยการสร้างจิตสำนึกต้องใช้เวลาซึ่งไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะให้ได้ผลสำเร็จภายในวันสองวัน แต่ทั้งนี้ทุกคนก็ต้องช่วยกันหากไม่ช่วยกันอนาคตของเกาะหลีเป๊ะคงไม่สวยงามอย่างที่ได้เห็นอยู่ขณะนี้
ทั้งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวหากมีขยะเกิดขึ้นเยอะคงไม่มีคนมาเที่ยว พอไม่มีคนมาเที่ยวสภาวะทางเศรษฐกิจของคนบนเกาะคงถดถอยตามไปด้วย ซึ่งก็น่าเสียดายหากธรรมชาติต้องเสียไปด้วยขยะมูลฝอย น้ำเสีย ก็น่าเสียดายเหมือนเสียดายพัทยา เสียดายเกาะเสม็ด เสียดายพีพีที่ปัจจุบันนี้ได้โทรมไปแล้ว หากอนาคตไม่ช่วยกันคงถึงจุดตรงนั้น และอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเพราะเกาะหลีเป๊ะยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก และขอฝากผู้ที่มาท่องเที่ยวในเรื่องขยะควรทิ้งในที่ที่มีการจัดไว้ให้ถ้าจะให้ดีเอากลับไปทิ้งบนฝั่งต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ
นายณรงค์ องสารา นักท่องเที่ยวกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่นักท่องเที่ยวเจอนั้นคือปัญหาขยะที่มีจำนวนเยอะมากๆ โดยขยะที่พบเห็นไม่ใช่มาจากชาวเกาะธรรมดา ส่วนใหญ่จะมากับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ซึ่งเมื่อพาขนมพาขยะมาก็ไม่ได้พากลับไป ทำให้เกาะนี้ไม่มีที่เก็บขยะที่เผาขยะ และมองว่าการส่วนของภาครัฐที่จัดการแก้ปัญหาให้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ หลายๆหน่วยงานยังไม่ชัดเจน โดยหลังจากนี้มองว่าหากหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างจริงจังน่าจะดีกว่านี้ ในส่วนตัวซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว ก็มีการเก็บ คัดแยกขยะบางส่วนขึ้นสู่ฝั่ง หากเป็นไปได้อยากให้มีการทำเตาเผาขยะเพราะหากเผาขยะบนเกาะผ่านไปก็ปีก็ยังอยู่บนเกาะเหมือนเดิม
นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวถึงปัญหาขยะล้นบนเกาะหลีเป๊ะ แหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดสตูล ว่า ขยะบนเกาะหลีเป๊ะมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆโดยขยะส่วนใหญ่ล้วนมาจากนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะสามารถเผาได้และขยะที่เป็นอินทรียวัตถุ เป็นขยะเปียกซึ่งตามร้านอาหารรีสอร์ทต่างๆให้จัดแยกอาหารอย่างจริงจัง และทางส่วนจังหวัดจะหารือกับทาง องค์กรท้องถิ่นต่างๆเพื่อที่เข้ามาช่วยเหลือในตรงนี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ปัจจุบันเรื่องขยะเหล่านี้กลายเป็นจุดสำคัญมากและทางรัฐต้องรับผิดชอบอย่างเดียว จึงอยากให้ทางนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เมื่อนำอาหารหรือขวดน้ำลงไป อย่างเช่น นักท่องเที่ยวนำน้ำดื่มลงไป 3 ขวด และทางเจ้าหน้าหรือเจ้าของเรือต้องทำการจดลงสมุดว่านักท่องเที่ยวได้นำน้ำลงไปตามเกาะและขากลับจะต้องนำกลับมาด้วยและถือว่าในส่วนตรงนี้ถ้าทำจริงจังจะมีการลดขยะได้มาก
ส่วนทางรีสอร์ต ที่พักต่างๆ ต้องออกตรวจตราเรื่องขยะด้วย และให้ลูกน้องออกดูขยะทุกเช้า และเย็นที่บริเวณหน้าชายหาดและตามจุดอื่นๆ ที่ตนเองรับผิดชอบ ส่วนขยะที่ลอยมากับน้ำทางเจ้าของเรือที่รับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นเรือจะต้องช่วยกันดูแลอย่างเข้มงวด ส่วนทาง อบต.ต่างๆ ที่รับผิดชอบต้องดูแลอย่างทั่วถึง ไม่ใช่สั่งการอย่างเดียว