xs
xsm
sm
md
lg

จัดการ “น้ำชะขยะ” ด้วย “เทคนิคกำแพงดินประดิษฐ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขั้นตอนการเตรียมดินแดงส่วนประกอบสำคัญ
ปัญหาการจัดการขยะถือเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็จัดการไม่หมด วิธีการแก้ไขมีออกมาหลากหลายแนวทาง ผู้คนต่างก็ตื่นตัว แต่เป็นเพียงแค่การดำเนินการชั่วครั้งคราว เราเคยมีการรณรงค์ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ลงคู คลอง เคยมีโครงการรณรงค์คัดแยกขยะ เคยมีโครงการขยะรีไซเคิล ฯลฯ แต่นานไปกลับพบว่าเป็นการยากที่จะมีคนใส่ใจเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การจัดเก็บขยะจึงมีความสำคัญ และวิธีหนึ่งที่หลายชุมชน หลายเมืองใหญ่เลือกใช้เป็นวิธีการจัดการขยะคือการ ‘ฝังกลบ’ แน่นอนว่าเป็นวิธีที่ใช้การย่อยสลายเป็นตัวกำจัด แต่หากภายในหลุมฝังกลบไม่มีการจัดการป้องกันที่ดีสิ่งที่ได้จากการย่อยสลายขยะที่มาในรูปของ ‘น้ำชะขยะ’ จะก่ออันตรายให้แก่ชุมชน โดยรอบหลุมฝังขยะอย่างไม่รู้ตัว
ดร.วาลิกา เศวตโยธิน
** ทำความรู้จักทั้งระบบ
“เมื่อมีการฝังกลบขยะทั้งถูก หรือไม่ถูกวิธีก็ตาม สิ่งที่จะมีตามมาคือน้ำสีน้ำตาล ดำ ที่เกิดจากการย่อยสลายเรียกว่าน้ำชะขยะ ปัญหาที่ตามมาคือน้ำชะขยะจะมีการปนเปื้อนของสารพิษหลายชนิด ที่พบมากที่สุด และมีปริมาณปนเปื้อนสูงได้แก่ สารปรอท สารตะกั่ว ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากหากการปนเปื้อนนี้แทรกซึมลงสู่แหล่งน้ำชุมชน”

ดร.วาลิกา เศวตโยธิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และในฐานะของหนึ่งในทีมงานวิจัยเรื่อง “ระบบบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้เทคนิคกำแพงดินประดิษฐ์ (Permeable Reactive Barriers : PRB)” ให้ข้อมูล

เมื่อมองเห็นถึงผลเสียที่จะตามมาจากการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นจากน้ำชะขยะ จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงลึกในการหาทางป้องกันเรื่องดังกล่าว และเลือกพื้นที่หลุมฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองสระบุรี จ.สระบุรี เป็นพื้นที่ในการทำวิจัย และสาธิตการทำระบบกำแพงดินประดิษฐ์ดังกล่าว เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของหลุมฝังกลบขยะเทศบาลเมืองสระบุรีนั้นมีลักษณะเป็นหินกรวด ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้จะง่ายต่อการรั่วซึมของน้ำชะขยะอย่างมาก
ถ่าน วัสดุเพื่อช่วยในการกำจัดกลิ่น
ทั้งนี้ในขั้นตอนการบำบัดน้ำชะขยะด้วยเทคนิคกำแพงดินประดิษฐ์นั้นต้องมีดินที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งจะให้คุณสมบัติในการบำบัดสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำได้ดี และในพื้นที่แห่งนี้พบว่าดินแดงที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นดังกล่าว เป็นดินที่มีธาตุเหล็กสูง จึงนำมาเป็นองค์ประกอบหลักในกระบวนการนี้

สำหรับขั้นตอนรายละเอียดการปฏิบัติและวัสดุที่นำมาใช้นั้น สุดา อิทธิสุภรณ์รัตน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมฯ หนึ่งในทีมวิจัยให้ข้อมูลว่า สิ่งหนึ่งที่คำนึงถึงคือวัสดุที่ใช้ต้องหาได้จากในท้องถิ่นเพื่อลดการสิ้นเปลือง ซึ่งนอกจากองค์ประกอบหลักที่มีดินแดงแล้ว ยังมีเศษเหล็กจากอุตสาหกรรม กรวด ทราย เพื่อสร้างให้ชั้นมีรูพรุนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี ถ่าน เปลือกหอยที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะของจุลินทรี ทั้งยังเป็นตัวนำกลไกทางกายภาพของสารเคมีที่ปนเปื้อน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนบำบัดสารเคมี และบำบัดสารอินทรีย์ในระยะยาว
สุดา อิทธิสุภรณ์รัตน์
ในส่วนของขั้นตอนการทดลองนั้น สุดา อธิบายว่า น้ำเสียจะหลุมฝังขยะจะถูกปั้มมาเก็บในถัง ซึ่งในขั้นทดลองจะใช้ถังขนาด 500 ลิตร จึงเข้าสู่กระบวนการแรกโดยปล่อยลงสู่ถังกรองที่เตรียมไว้โดยขั้นแรกคือการกรองด้วยเปลือกหอย เพื่อให้เกิดการตกตะกอน และย่อยสลายของสารอินทรีย์ จากนั้นเข้าสู่ถังกรองที่มีเปลือกหอย ทราย ผงถ่าน ในกระบวนการนี้เป็นการกำจัดกลิ่น ต่อไปจึงน้ำที่ผ่านการกรองความสกปรกเบื้องต้นจะไหลมารวมกันที่ถังรับน้ำเพื่อรอเข้าสู่ระบบบำบัด

** แปรสภาพน้ำเน่าให้ดีขึ้น 70%
ในขั้นของกระบวนการบำบัดนั้นในระบบจะมีอยู่ 3 หน่วย ซึ่งในแต่ละหน่วยจะมีชั้นต่างๆ ซ้อนกัน โดยเริ่มจากชั้นบนสุดจะประกอบด้วย เปลือกหอย ถ่าน ชั้นถัดมาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีทั้งทราย 70% ดินแดง 25% และผงเหล็กอีก 5 % ผสมกัน ส่วนชั้นล่างสุดเป็นชั้นของเปลือกหอยสลับชั้นทราย ทั้งนี้ในขั้นของการทดลองยังมีชุดควบคุมประสิทธิภาพโดยใช้การกรองด้วยทรายธรรมดา เพื่อทำการเปรียบเทียบผลอีกด้วย

ด้านการออกแบบระบบบำบัดนั้น ในหน่วยแรกน้ำจะไหลผ่านกรองลงด้านล่าง เพื่อให้เติมอากาศให้น้ำ จากนั้นเมื่อเข้าสู่หน่วยที่ 2 ก็จะใช้กระบวนการให้น้ำเอ่อขึ้นจากด้านล่างสู่ด้านบน เพื่อการบีบตัวของน้ำ จนกระทั้งหน่วยสุดท้ายก็จะไหลลงเหมือนหน่วยแรก
การเตรียมถังกรองด้วยเปลือกหอยกระบวนการบำบัดเบื้องต้น
“เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้ง 3 หน่วยแล้ว น้ำที่ได้ก็จะถูกเก็บไว้เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบตั้งแต่ขั้นตอนแรกก่อนผ่านระบบ จนกระทั่งน้ำออกจากระบบ ซึ่งพบว่าคุณภาพของน้ำที่ก่อนมีสารปนเปื้อนเกือบ 100% เมื่อผ่านกระบวนการบำบัดแล้วสามารถทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นถึงร้อยละ 70% น้ำที่ได้ตรงนี้ก็จะสามารถปล่อยลงสู่ระบบบำบัด ที่มีอยู่ทั่วไปอีกชั้นหนึ่งก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งคุณภาพของน้ำหลังการบำบัดด้วยเทคนิคกำแพงดินประดิษฐ์นี้จะดีกว่าการบำบัดแบบทั่วไป เช่นการขุดบ่อเพื่อเติมอากาศให้น้ำเสีย ซึ่งนอกจากคุณภาพน้ำจะไม่ดีแล้วยังส่งกลิ่นรบกวน ดังนั้นเทคโนโลยีการบำบัดน้ำชะขยะด้วยเทคนิคกำแพงดินประดิษฐ์นี้ถือเป็นทางเลือกใหม่ ในการบำบัดน้ำเสียต้นทุนต่ำ ชาวบ้านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับครัวเรือนได้ เพราะน้ำชะขยะถือว่าเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติต่ำที่สุด อาการหนักสุด แต่ยังสามารถเพิ่มคุณภาพน้ำได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหากับการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากครัวเรือน ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยว่ามีดินซึ่งเป็นวัสดุสำคัญที่มีธาตุเหล็กอยู่มากพอที่ใช้ในการบำบัดหรือไม่” สุดาอธิบาย
การเตรียมถังกระบวนการบำบัด
** แยกขยะก่อนทิ้งวิธีป้องกันง่ายๆ
ถึงตรงนี้ ดร.วาลิกา แนะนำว่า วิธีที่จะช่วยลดผลเสียจากน้ำชะขยะได้ดีที่สุดคือการคัดแยกขยะ ระหว่างขยะมีพิษ กับขยะไม่มีพิษ เพราะจะสามารถกำจัดสิ่งที่ปนเปื้อนที่มาในรูปของน้ำชะขยะได้ง่ายขึ้น ในด้านของการฝังกลบขยะนั้น การคัดแยกขยะก็จะช่วยในการลดพื้นที่การฝังกลบ ลดความยากลำบากในการจัดการขยะ ซึ่งขยะส่วนใหญ่กว่า 80% ที่ได้จากรถเก็บของเทศบาลนั้นจะเป็นขยะอินทรีย์ ดังนั้นส่วนนี้สามารถนำมาแปรสภาพเป็นปุ๋ยได้เช่นกัน

“ทั้งนี้อยากให้แต่ละชุมชนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการฝังกลบขยะให้มาก เพราะว่าสารพิษบางตัวเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น การเคลื่อนตัวการปนเปื้อน ทั้งในน้ำ และดิน อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราจึงหวังอยากให้มีการจัดการขยะที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้ทั่วประเทศทำได้น้อยมาก และปัจจุบันสารเคมีที่มาในรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมากมายจนตามไม่ทัน และไม่สามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดผลอย่างไรกับเราในระยะยาวบ้าง ฉะนั้นก็อยากฝากให้มีการตระหนักถึงการแยกขยะก่อนทิ้งจะเป็นการดีที่สุด” ดร.วาลิกาฝากทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น