ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดทัพใหญ่ “เมนูกู้วิกฤต SMEs” นำร่องมาที่ภูเก็ต นำเสนอเมนูสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจในอัตราดอกเบี้ยพิเศษสุดๆ ทั้งชะลอเลิกจ้าง sme POWER และช่วยเหลือท่องเที่ยว เผยไตรมาสแรกปล่อยไปแล้วเกือบ 6 พันล้านบาท คาดตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านบาท จากเมนูกู้วิกฤตที่ผู้ประกอบการสนใจมาก
นายธนิต โสรัตน์ กรรการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ในฐานะรองโฆษกธนาคร SME Bank เปิดเผยภายหลังเปิดงาน “เปิดเมนูกู้วิกฤต SMEs จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางธนาคารฯจัดขึ้น ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 กิจการ ว่า การจัดงาน “เปิดเมนูกู้วิกฤต SMEs” ที่จังหวัดภูเก็ต ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดในภูมิภาค ภายหลังที่ได้เปิดตัวไปที่กรุงเทพฯเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา
การจัดงานดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อที่จะนำเสนอแพกเกจสินเชื่อเมนูวิกฤต SMEs ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบ เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นว่าธุรกิจในภูเก็ต 70% เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาทางการเมืองได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง ต้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นเมนูกู้วิกฤตฯ ของธนาคารมีสินเชื่อที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่นำมาเสนอให้กับผู้ประกอบการ เช่น สินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงาน ที่อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 5 สินเชื่อ smePOWER สินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินและเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมทั้งสินเชื่อแฟคตอริ่ง ลิสซิ่ง และสินเชื่อทั่วไปของธนาคาร
นายธนิต กล่าวต่อว่า สินเชื่อ smePOWER มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7% สินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงานมีวงเงิน 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 คงที 5 ปี ซึ่งทางธนาคารเปิดให้บริการสินเชื่อทั้งสองมาเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาโดยมีพันธมิตรทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถึงขณะนี้มีผู้ยื่นขอมาเข้ามาแล้วที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ 2,700 ล้านบาท และทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ทางธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินและเหตุการณ์จลาจลในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 พร้อมทั้งได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้ที่ผู้ประกอบการสามารถขอกู้ได้ง่ายขึ้น โดยครั้งแรกกำหนดให้ผู้ประกอบการยื่นขอกู้ได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่อย่างไรก็ตามกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีการยืดเวลาการขอกู้ออกไปอีก 2-3 เดือน
นายธนิต เผยอีกว่า จากที่ธนาคารได้ออกสินเชื่อเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 5,800 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 14% โดยเป็นลูกค้ารายใหญ่ 48% ลูกค้ารายเก่า 52% ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปี้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารน่าจะอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นจำนวนมากและช่วยชะลอการเลิกจ้างงานได้เป็นแสนๆคน
ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปีจะปล่อยได้ทั้งหมด 26,000 ล้านบาท จากที่ในปีนี้ทางธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยวงเงินสินเชื่อที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งนั้น คาดว่าเม็ดเงินจะถึงมือผู้ประกอบการได้ภายในเดือน พ.ค.นี้
ส่วนสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินและวิกฤตทางการเมืองจำนวน 5,000 ล้านบาทนั้น ครม.อนุมัติออกมาเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยตรง โดยให้กู้เพื่อเสริมสภาพคล่องรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดการให้กู้นั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในสัปดาห์หน้า โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะต่ำกว่าร้อยละ 5 เงื่อนไขการขอกู้ผ่อนปรนในเรื่องของการค้ำประกัน เช่น สามารถใช้ผู้ประกอบการค้ำประกันซึ่งกันและกันได้ เป็นต้น