ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เสนอ 3 สินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการปิดสนามบิน นำเสนอสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการภูเก็ต 25 เม.ย.ภายใต้ชื่องาน “เมนูแก้วิกฤต SMEs” ขณะที่ผู้ประกอบการในภูเก็ตยื่นขอแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท คาดปีนี้สาขาภูเก็ตปล่อยไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
นายขรรค์ชัย รัตนญาติ ผู้จัดการสาขาภูเก็ต ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank เปิดเผยว่า จากที่เกิดปัญหาวิกฤตทางการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้ลุกลามส่งผลกระทบทั่วโลกแม้แต่ประเทศไทย รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการปิดสนามบินทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ทำให้ธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯหรือ SME-Bank ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารได้ออกสินเชื่อเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ 3 สินเชื่อ ประกอบด้วย สินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ซึ่งธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมให้การช่วยเหลือสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศทั้งหมด 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถขยายเพิ่มเติมได้อีกหากไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยสินเชื่อนี้ให้กู้รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท
สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองอีก 2,000 ล้านบาท โดยให้กู้รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท และตัวสุดท้ายสินเชื่อที่เรียกว่า “SME Power” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ขอสินเชื่อเพิ่มจนเพียงพอในการลงทุนและดำเนินธุรกิจต่อไป หากสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างและสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินไม่เพียงพอ
นายขรรค์ชัย กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ธนาคารได้ออกสินค้าทั้ง 3 ชนิดแล้ว ได้กำหนดที่จะนำเสนอสินเชื่อดังกล่าวให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดที่จะจัดงาน “เมนูแก้วิกฤต SMEs” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ เพื่อที่จะนำเสนอสินเชื่อทั้ง 3 ชนิดนี้ให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากที่สุด เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เช่น สินเชื่อปิดสนามบินอัตราดอกเบี้ย MLR-3 เป็นเวลา 2 ปี จากที่อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 7 ในขณะนี้ ซึ่งงานนี้คิดว่าผู้ประกอบการ SMEsในจังหวัดภูเก็ตจะเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทางธนาคารได้ส่งจดหมายเชิญไปแล้วกว่า 500 ท่าน
นายขรรค์ชัย ยังกล่าวถึงการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการผ่านทางธนาคารสาขาภูเก็ต ว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมามีผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยื่นขอสินเชื่อเข้ามายังธนาคารสาขาภูเก็ตประมาณ 40 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานใหญ่ได้อนุมัติไปแล้วจำนวน 8 ราย วงเงินประมาณ 10 ล้านบาท และที่ธนาคารได้ส่งไปให้สำนักงานใหญ่พิจารณาแล้ว 11 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 400 ล้านบาท และยังเหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาของสาขาภูเก็ตก่อนที่จะนำเสนอสำนักงานใหญ่อีก 16 ราย วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการในภูเก็ตที่เข้ามาขอสินเชื่อ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น เพราะธุรกิจในภูเก็ตส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด และวงเงินสินเชื่อจะมีตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ 100 ล้านบาทขึ้นไป