xs
xsm
sm
md
lg

ใต้ตื่นตัวอุตสาหกรรมหนักรุกชายฝั่ง ฟันแผนพัฒนาชาติเหยียบประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เวทีสัมมนา “ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด”ที่จัดโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เวทีเสวนา “ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด” ชำแหละแผนพัฒนาพื้นที่ชายทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) 1.5 ล้านล้านบาท รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ผลักภาคใต้จ่อปากเหวซ้ำรอยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กระจายอุตสาหกรรมหนักถ้วนทั่วตั้งแต่ประจวบยันปัตตานี ซ้ำร้ายรัฐเปิดหน้าตักให้ทุนบุกทรัพยากรธรรมชาติจากชุมชน แม้แต่ภาษีแทบไม่ตกลงพื้นที่ แต่มลพิษทิ้งเพียบ พลิกหน้าประวัติศาสตร์ไทยยิ่งพัฒนาคนยิ่งจนลง คนระยองถ่ายทอดประสบการณ์ 3 สัญญาณอันตราย ชี้สงขลาก้าวขาไปกว่าครึ่ง ทั้งโรงแยกก๊าซ-โรงไฟฟ้า เปิดประตูรับอุตสาหกรรมหนักตามมาอื้อ เหลือเปิดประตูท่าเรือน้ำลึกรอลงเหวเต็มตัว เตือนสติรัฐบาลภาคใต้ยังมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทั้งเกษตร ท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้กระจายสู่ประชาชนชั่วลูกหลาน

จากการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอแผนพัฒนาภาคใต้ กำหนดกรอบการศึกษาแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับที่ 10 เน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้เริ่มมีการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สงขลาถูกกำหนดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) อันเป็นองค์กรประสานงานกลางขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ มีบทบาทในการประสานยุทธศาสตร์ขบวนงานพัฒนา การหนุนเสริมและสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาในระดับพื้นที่ระหว่างองค์กรพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ได้กำหนดจัดเวทีสัมมนา “ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด” ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้รับทราบความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนาภาคใต้ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ และเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และคาดว่าจะนำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วม ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป

รัฐปัดฝุ่นโครงการหมื่นล้านล้านดันอุตสาหกรรมลงใต้

การเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลภาคใต้มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท (มูลค่า ณ ปัจจุบัน) เกิดขึ้นในสมัยของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย จึงได้วางแผนดำเนินการพัฒนา แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญในช่วงหนึ่งทำให้โครงการดังกล่าวถูกพักเก็บไว้ จนกระทั่งเริ่มมีการนำแผนพัฒนาดังกล่าวมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เค้าลางของการผลักภาคใต้สู่แผนพัฒนาที่สะเทือนต่อวิถีชีวิตเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นประชาชนจึงเกิดขึ้น

ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (กพต.) เพื่อศึกษาและปรึกษาหารือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ คือรถยนต์ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 4 พื้นที่ทางเลือก คือ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.ประทิว จ.ชุมพร, อ.ดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี, อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คือแก๊สอ่าวไทยและท่าเรือน้ำลึกนครศรีธรรมราช สงขลา-ปัตตานี

ตลอดจนถึงคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม2551 ประเด็นภาคอุตสาหกรรมยิ่งตอกย้ำความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น ครั้งนั้นรัฐบาลเน้นย้ำต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งเครือข่ายรวมกลุ่ม และปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ขยายขอบเขตการดำเนินการให้สินเชื่อ และประกันสินเชื่อ โดยใช้เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้

รวมถึงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีมีมติ 3 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยมีหน้าที่พิจารณาเสนอแนะนโยบายแผนงาน โครงการและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และประสานการบริหาร กำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวม ทั้งระบบกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
บางส่วนของผู้เข้าร่วมการสัมมนา
ถอดมายาคติทำเพื่อชาติ โกยเงินเข้ากระเป๋าทุน

ผศ.ประสาท มีแต้ม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงปัญหาพลังงานกับการพัฒนาว่า กุญแจสำคัญของการพัฒนาในห้วงที่ผ่านมานั้น ยิ่งพัฒนายิ่งทำให้มีรายได้น้อย และยิ่งใช้พลังงานมากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับรายได้ประชากรไทยจากปี 2536-2550 เพิ่มขึ้น 168% แต่มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 327%

“การวางแผนของไทยตามรอยประเทศยุโรป แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ไม่ได้มาจากการทำเพื่อพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอันเป็นที่มาของคอร์รัปชั่น ค่านายหน้าและผลประโยชน์ ทั้งเรื่องที่ดิน การก่อสร้าง จนกระทั่งประชาชนที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาจนลงเรื่อยๆ” ผศ.ประสาทกล่าวต่อและว่า

ยิ่งเมื่อย้อนมาดูในพื้นที่ จ.สงขลา สังคมไทยถูกหลอกมาตลอดว่าจะนำก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะจากแหล่ง JDA มาพัฒนาภาคใต้ ใครที่คัดค้านก็จะถูกตราหน้าว่าไม่รักความเจริญ จนถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่ามีการขุดก๊าซทั้งหมดให้ประเทศมาเลเซียใช้ทั้งหมดเลย แล้วทิ้งมลพิษที่บ้านเรา แม้แต่เมื่อ 8 เดือนก่อนประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนแก๊สแอลพีจี คนไทยก็ยังไม่ได้ใช้ก๊าซที่ขุดได้อยู่ดี เพราะส่วนที่เป็นของไทยนั้นถูกต่อท่อส่งไปยังมาบตาพุด จ.ระยอง คนภาคใต้ไม่ได้ใช้แม้แต่น้อย

ผศ.ประสาท ยังกล่าวถึงโครงการขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังจะเข้ามาขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทย บริเวณชายฝั่ง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยใช้มายาคติว่าทำเพื่อเป็นลดการนำเข้าน้ำมัน โดยชาวบ้านต้องสละพื้นที่ประมงเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วน้ำมันที่ไทยขุดเจาะได้มีการส่งออก 1 ใน 5 ไปยังเกาหลีโดยไม่ได้เห็นความจำเป็นของประชาชนเลย แต่ทำเพื่อการค้าของระบบโลก

ด้าน ดร.อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลใต้เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ท่าเรือน้ำลึก เช่นเดียวกับ จ.นครศรีธรรมราช ที่จะเดินตามและพ่วงด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจ ฐานเจาะน้ำมันเชฟรอน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ส่วนสงขลาและสตูล จะมีสะพานเศรษฐกิจ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกจังหวัดล้วนจะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนั้น

ดังนั้น หากแผนพัฒนานี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จะต้องมีการใช้น้ำและไฟอย่างมหาศาล น่าสนใจว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ระหว่างอุตสาหกรรมกับชาวบ้านหรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่ทั้งจำนวนพื้นที่ การลงทุน และผลกระทบมากกว่าที่เกิดกับมาบตะพุดมากหลายเท่าตัว โดยมีอุตสาหกรรมจะเป็นผู้คิดแผนคิดถึงการลงทุน ผลประโยชน์ แต่ไม่ได้นึกถึงชาวบ้านเป็นหลัก อุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้น้ำและไฟมหาศาล

“ทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี จะมีโรงงานถลุงเหล็กต้นน้ำอย่างน้อย 3 แห่ง แต่ละแห่งใช้พื้นที่ราว 5,000 ไร่ และมีโรงงานย่อยๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งมาจากทุนของญี่ปุ่น 2 จีน และลักซ์แซมเบิร์ก และเท่าที่ติดตามยังใช้เทคโนโยเก่าที่เอาถ่านโค้กเผากับสินแร่เหล็ก โดยนำแร่เหล็กมาจากประเทศออสเตรเลีย อุตสาหกรรมนี้ถือว่าสร้างมลพิษเป็นอันดับ 2 และเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้โลกร้อนเลยทีเดียว และภาคใต้มีจุดหนัก 2 แห่งคือ สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่จะรองรับอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี” ดร.อาภากล่าว

ชี้ 3 ลางร้าย “สงขลา” ตามรอย “มาบตาพุด”

นายสุทธิ อัชฌาสัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลพลิกโฉมหน้าของ จ.ระยอง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดวิกฤตตามการเติบโตของอุตสาหกรรม เกินกว่าที่ประชาชนจะสามาราถเรียกร้องให้คืนธรรมชาติและวิถีชีวิตตามปุถุชนต่อไปได้ เดิมระบุว่าจะมีพื้นที่อุตสาหกรรม 5,000 ไร่ ด้วยโรงงานราว 50 แห่ง แต่การเติบโตทำให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นไปเป็นไปตามที่ชี้แจงชาวบ้านคือเกือบ 2,000 แห่ง และตามมาด้วยอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำลายคุณภาพชีวิต

สัญญาณแรกที่บ่งชี้ว่า พื้นที่นี้จะมีการลงอุตสาหกรรมเพื่อการทำลาย เริ่มจากการ 1.ท่าเทียบเรือน้ำลึก มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเคยอ้างว่าจะทำให้คนในพื้นที่มีก๊าซธรรมชาติราคาถูกใช้ 2.อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ 3.โรงกลั่นน้ำมัน ทั้งหมดนี้ประชาชนถูกหลอนด้วยภาพว่าจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่หารู้ไม่ว่าการมีสิ่งเหล่านี้คือลางบอกเหตุแห่งการทำลาย ทว่า ก็ไม่มีใครพูดข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้ความรู้ทุกมุมแก่ประชาชน เพราะเกรงจะมีการต่อต้านแล้วมีผลกระทบต่อการลงทุน

นายสุทธิ กล่าวต่อด้วยว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะต่อมา เช่น ปี 2539 มีการย้ายโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศออกนอกพื้นที่, มีการทิ้งน้ำเสียลงทะเลโดยไม่รับผิดชอบ ส่งผลให้น้ำบ่อตื้นมีโลหะหนักเกินมาตรฐานจำนวนหลายแห่ง, การถมทะเลเพื่อก่อสร้างโรงงานทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาด ส่งผลต่อบ้านเรือนของประชาชน และรัฐบาลต้องสร้างแนวกันคลื่น, โรงงานแอบทิ้งขยะในพื้นที่ว่างโดยไม่ผ่านการกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากปริมาณที่มากและมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมีการตรวจร่างการพบว่าคนในมาบตาพุดได้รับสารพิษ 41 ชนิด โดยมีสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด และต้องอยู่ภายใต้ความทุกข์ทรมานตลอด 25 ปี ซึ่งทิศทางการพัฒนาที่กำลังลงมาในภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลา ก็เป็นการเริ่มต้นที่เคยเกิดขึ้นกับมาบตาพุด จ.ระยองมาก่อน

“มลพิษที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนระยอง มีความรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเกิดโรคมินามาตะในประเทศญี่ปุ่น เพราะสารพิษที่หลากหลายจากอุตสาหกรรมหลากประเทศสะสม รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดกับพื้นที่อื่นๆ ซ้ำรอยอีก และเชื่อว่าบทเรียนนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเรียนลัด ซึ่งคนในพื้นที่สงขลาเองจะรู้ดีว่าพื้นที่นี้ควรจะพัฒนาในรูปแบบใดที่ไม่ใช่การพัฒนาที่มาพร้อมกับการทำลาย แต่ต้องเร่งตื่นตัวมากกว่านี้เพราะรัฐบาลเองเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการนำแผนนี้ไปโรดโชว์เชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามา” นายสุทธิกล่าว
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เปิดปากชาวจะนะก่อนเป็นมาบตาพุด 2

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เปิดเผยว่า ตลอดเวลา 11 ปีของการต่อสู้ชาวจะนะในการคัดค้านโรงแยกก๊าซทรานส์ไทย-มาเลเซีย ก็เพื่อจะบอกและเตือนกับสังคมถึงการรุกรานสิทธิและทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภายใต้แผนพัฒนาที่คนในภาครัฐรู้เห็นเป็นใจและไม่ต้องการให้ข้อมูลประชาชนทราบ ว่าวางแผนจะให้ อ.จะนะ จ.สงขลาเป็นเขตอุตสาหกรรมตั้งแต่แรก

ทั้งหมดนี้ ได้ทยอยเดินตามรอยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยมีการซุกซ่อนแผนการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ และตามมาด้วยโรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการเปิดประตูอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

ด้านนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ชาวบ้าน ต.ควนหัวช้าง อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยว่า ตนเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต่อสู้คัดค้านการเข้ามาของสัญญาณอันตรายทั้งโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้า เพราะเป็นการปล้นทรัพยากรธรรมชาติไปจากชาวบ้าน โดยที่แรงของชาวบ้านไม่สามารถยื้อได้ ทั้งเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหน้าโรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ อันเป็นชนวนของการใช้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน โดยศาลได้สั่งให้ตำรวจที่เข้าทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของชาวบ้านต้องชดใช้ความเสียหาย ทว่า ทั้งโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าได้เดินหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ หากให้มองอนาคตของ อ.จะนะ จ.สงขลาแล้ว นางสุไรด๊ะห์กล่าวว่า ไม่ต่างอะไรกับมาบตาพุดอย่างแน่นอน เพราะการเข้ามาของโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้า ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ที่เป็นแหล่งอาหาร รายได้ของชาวบ้าน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ พันธุ์พืชพื้นบ้านที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ รอแต่จะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า

นอกจากนี้ ยังทำให้ชาวบ้านเกิดความแตกแยกทางความคิด โดยใช้เงินเป็นตัวยุแยง หากยอมรับเงินก็เปิดโอกาสให้การพัฒนาที่ไม่เคยมองผลประโยชน์ชาวบ้านเป็นหลักเกิดขึ้น และกลุ่มทุนนั่นเองที่ทิ้งเศษเงินมาให้ชุมชนรอบๆ ขณะที่ชาวบ้านซึ่งยึดถือในความถูกต้องถูกปล่อยให้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

สวนรัฐใต้ไม่เหมาะพัฒนาอุตสาหกรรม

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ จ.ระยอง เป็นการนำเอาทรัพยากรและชุมชนเข้าแลกกับเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้ยังผลงอกงามให้กับชุมชนเลย ยกเว้นเรื่องผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากเศรษฐกิจ 3 ขาที่อยู่อย่างสมดุล ทั้งการเกษตร ประมง และอุตสาหกรรม กลับถูกผลักให้พึ่งพาอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด โดยมีการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งเคมีภัณฑ์ วัตถุดิบ ซึ่งแบ่งผลประโยชน์กับต่างประเทศนั่นเอง เป็นคำตอบว่าเหตุใดชาวระนองเจ้าของพื้นที่จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของการพัฒนานั่นเอง

แม้คนในพื้นที่จะมุ่งหวังว่าการลงทุนเหล่านี้ จะสามารถพึ่งพิงรายได้จากการเสียภาษีได้ แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนใน จ.ระยอง ได้รับภาษีจากการลงทุนเพียง 1% เพราะมีการยกเว้นภาษีจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ เมื่อจะเสียภาษีบ้างก็จ่ายให้กับนอกพื้นที่ เพราะการลงทุนนี้ใช้แค่พื้นที่ แต่เทคโนโลยีและวัตถุดิบนำเข้าทั้งสิ้น

“จ.ระยองเป็นการพัฒนาที่คนส่วนน้อยได้รับประโยชน์ แต่ผลกระทบตกกับคนกลุ่มใหญ่ แล้วเราจะปล่อยให้ภาคใต้เป็นเช่นนั้นเหรอ เพราะภาคใต้มีความพิเศษที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรและความหลากหลาย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นภาคเดียวของประเทศไทยที่มีผลตอบแทนทางการเกษตรสูงที่สุดในประเทศไทย ส่วนรายได้เกี่ยวการท่องเที่ยวแต่ละปีก็มีกว่า 100,000 ล้านบาท มีความได้เปรียบทางด้านการลงทุนการศึกษารวมกัน 50,000 ล้านบาทที่สามารถนำไปต่อยอดได้ ยกเว้นเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีการแปรรูปเพียง 10 % แต่หากมีการพัฒนาด้านนี้จะสามารถสร้างยกระดับรายได้ของภาคใต้ได้อีกมาก หรือเพิ่มอีก 25% ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านบาทนั่นเองซึ่งยังไม่รวมการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและหลุดพ้นจากความยากจน”

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า บทเรียนเดิมๆ ของการเมืองภาคประชาชนที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการใดๆ ที่ไม่เห็นด้วย ก็คือไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน และชุดใด ย่อมเห็นแก่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่า ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผลักดันให้โครงการเหล่านั้นเดินหน้าโดยไม่ได้นำบทเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาสอนใจ และฟังเสียงของประชาชน เช่นเดียวกับที่กำลังจะเกิดขึ้นกับใน อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีการทุบโต๊ะให้อุตสาหกรรมลงมาในพื้นที่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น