ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักท่องเที่ยวตอบรูปแหล่งท่องเที่ยวฝูงบินปะการังใต้ทะเลเริ่มเข้าชมวันละประมาณ 300 ราย บริษัทนำเที่ยวบรรจุในโปรแกรมทัวร์ ขณะที่ อบต.เชิงทะเลเจ้าของพื้นที่ผ่านงบประมาณ 5 แสนบาททำทุ่นป้องกันเรืออวนลากอวนรุน พร้อมทำโป๊ะสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวใช้บริการ
นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังจัดทำโครงการฝูงบินปะการังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลบริเวณอ่าวบางเทา จ.ภูเก็ต ซึ่งได้มีการนำซากเครื่องบินจำนวน 10 ลำ มาจัดวางเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน พ.ย.2551 ที่ผ่านมา ว่า หลังจากที่ได้มีการวางซากเครื่องบินมาระยะหนึ่งพบว่าขณะนี้บริเวณที่วางซากเครื่องบินเริ่มมีปะการังลงเกาะ และปลาชนิดต่างๆก็เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณฝูงบินปะการังจำนวนมากขึ้น
โดยขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเช่าเรือหางยาวของชาวบ้านไปดำน้ำบริเวณฝูงบินปะการังจำนวนมาก เฉลี่ยในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวดำน้ำลงไปที่จุดดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 300 คน ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการของบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ด้วยที่ขณะนี้หลายบริษัทได้บรรจุโปรแกรมดำน้ำชมฝูงบินปะการังเข้าไปอยู่ในโปรแกรมดำน้ำฝั่งทะเลอันดามันแล้ว เชื่อว่า ในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาดำเนินน้ำพื้นที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเข้าไปดำน้ำยังจุดฝูงบินปะการังยังสามารถเข้าชมได้ฟรีอยู่ แต่หลังจากนี้จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าไปดำน้ำยังจุดดังกล่าวเพื่อนำรายได้มาใช้ในการดุแลและบำรุงรักษาฝูงบินปะการังให้คงอยู่ต่อไป โดยทางอบต.กำลังอยู่ระหว่างการร่างข้อบังคับตำบลว่าด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมฝูงบินปะการัง ซึ่งคิดว่าข้อบัญญัติตำบลจะร่างเสร็จในเร็วๆ นี้ และออกมาเป็นข้อบังคับตำบล
นายมาโนช กล่าวต่อถึงการดูแลฝูงบินปะการังในทะเลว่า ขณะนี้ทางอบต.เชิงทะเล มีมติผ่านงบประมาณจำนวน 5 แสนบาทเ พื่อใช้สำหรับการสร้างทุ่นกันแนวรอบโครงการฝูงบินปะการังเพื่อป้องกันเรืออวนลากอวนรุนที่อาจจะลักลอบเข้ามา รวมทั้งจะจัดทำทุ่นสำหรับให้นักท่องเที่ยวพยุงตัวลงไปยังจุดจมฝูงบินปะการัง และทำโป๊ะขนาดกว้าง5 เมตร คูณ 5 เมตร เพื่อใช้สำหรับการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวและเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
นายมาโนช กล่าวต่อว่า การสร้างฝูงบินปะการังที่จังหวัดภูเก็ตนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากนอกจากจะเป็นการสร้างแหล่งดำน้ำใหม่เพื่อลดความแออัดของแหล่งดำน้ำในธรรมชาติที่ปัจจุบันนี้เริ่มมีความเสื่อมโทรมเนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเรือหางยาวที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากชายหาดไปยังจุดฝูงบินปะการัง