xs
xsm
sm
md
lg

กฟน.ปลูกหญ้าทะเลคืนธรรมชาติสู่ทะเลตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – การไฟฟ้านครหลวงร่วมกับจังหวัดตรัง ปลูกหญ้าทะเล ที่บริเวณอ่าวค้างคาว ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน หญ้าทะเลถือเป็นแหล่งอาหารของพะยูน ซึ่งถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง และเป็นสัตว์สงวนที่ในปัจจุบัน

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่หมู่บ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกหญ้าทะเลคืนธรรมชาติสู่ท้องทะเลตรัง ตามโครงการปลูกหญ้าทะเลรักษ์สิ่งแวดล้อมของการไฟฟ้านครหลวง

โดยมีคณะผู้บริหาร และพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เดินทางมาร่วมทำกิจกรรม พร้อมกับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ นักเรียนจากโรงเรียนทุ่งรวงทอง และโรงเรียนบ้านหยงสตาร์ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่รวมกันจำนวนกว่า 200 คน ร่วมกันปลูกหญ้าทะเล ที่บริเวณอ่าวค้างคาว ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน

ทั้งนี้ หญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่สำคัญ เพราะแนวหญ้าทะเลเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตสูง เนื่องจากมีการสะสมของดินตะกอน และสารอาหารจากบริเวณปากแม่น้ำ นอกจากนั้น หญ้าทะเลยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำนานาชนิด ที่สำคัญที่สุดก็คือ หญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารของพะยูน ซึ่งถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง และเป็นสัตว์สงวนที่ในปัจจุบัน มีอยู่ในจังหวัดตรังมากที่สุด ประมาณ 115-125 ตัว หรือนับได้ว่าเป็นพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศไทย

ดังนั้น จังหวัดตรัง จึงร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง มีนโยบายร่วมกันในการอนุรักษ์พันธุ์หญ้าทะเล เพื่อคืนธรรมชาติให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์สู่ท้องทะเลตรังมากที่สุด และเป็นการอนุรักษ์พะยูนให้อยู่คู่ท้องทะเลตรังอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้านครหลวง กับจังหวัดตรังในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรม เพื่อจุดประกายให้ทุกคนในสังคม โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ให้หันมาเห็นความสำคัญ และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในประเทศไทยทุกรูปแบบให้มีความยั่งยืนตลอดไป

นอกจากนั้น ยังมีการปล่อยสัตว์น้ำที่ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประสานขอเข้าร่วมโครงการไถ่ชีวิตสัตว์ เพื่อบูชาคุณองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อร่วมปล่อยสัตว์น้ำที่ซื้อมาจากชาวประมง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง ซึ่งประกอบไปด้วย ปลาเก๋า ปลาหมึก และปูทะเล หรือปูดำ จำนวนกว่า 1,000 ตัว

อย่างไรก็ตาม จังหวัดตรัง มีพื้นที่ชายฝั่งยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จากพื้นที่อำเภอสิเกาถึงอำเภอปะเหลียน โดยประชาชนส่วนหนึ่งมีอาชีพทำการประมง และในปัจจุบันชาวประมงส่วนใหญ่มีความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการรวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการอนุรักษ์พะยูน ที่ขณะนี้เริ่มเป็นปัญหาวิกฤติ เพราะกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลตรัง อย่างไรก็ตาม หากหญ้าทะเลแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์คู่ท้องทะเลตรังอีกครั้ง ก็จะเป็นการคืนความสมดุลให้ระบบนิเวศน์ของท้องทะเลเช่นเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น